โรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่ต้องระวัง! ดึงผมตัวเอง ดึงจนเพลิน! ผมร่วง หัวล้านไม่รู้ตัว รีบรักษาก่อนสายเกินแก้!
อย่าดึงจนเพลิน! ทำความรู้จัก โรคดึงผม (Trichofillomania) และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รู้ก่อน รักษาทัน ป้องกันผมร่วง! โรคดึงผมตัวเอง คือ ภาวะที่ผู้ป่วยมีผมบางจากการดึงผมหรือขนบริเวณเดิมซ้ำหลายครั้งปัจจุบันจัดอยู่ในอาการทางจิตเวชกลุ่มย้ำคิดย้ำทำ พบได้ทั้งเพศชายและหญิง โดยผู้ป่วยอาจจะไม่รู้ตัวหรือรู้ตัวขณะมีพฤติกรรมดึงผม เนื่องจากช่วยคลายความเครียดหรือความกังวล

อาการ
- ผมร่วงเป็นหย่อม โดยมีรูปร่างประหลาดหรือขอบมีความขรุขระ
- อาจพบรอยแกะเกาที่หนังศีรษะ ใบหน้า หรืออาการกัดเล็บร่วมด้วย
- หย่อมผมร่วงมักพบอยู่ด้านเดียวกับมือข้างถนัด นอกจากนั้นยังพบได้กับขนตามร่างกาย เช่น ขนคิ้ว ขนตา ขนรักแร้ เป็นต้น
- จัดเป็นภาวะผมร่วงชนิดไม่มีแผลเป็น ยกเว้นมีการดึงผมอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง
ปัจจัยที่ทำให้เป็นโรคดึงผม
อาจมีโรคทางจิตเวชบางอย่าง เช่น วิตกกังวลประเภทย้ำคิดย้ำทำ หรือการเป็นโรคซึมเศร้า รวมถึงพันธุกรรมก็เป็นปัจจัยหนึ่ง อาจมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคดึงผมเหมือนกัน หรือแม้กระทั่งความผิดปกติทางสมองและสารเคมีในสมอง สมาธิสั้น มีความเครียด หรือมีปัญหาทางด้านปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เป็นต้น
วิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อนอื่นต้องให้ผู้ป่วยรู้ตัวก่อนว่าเป็นโรคชอบดึงผม โดยเฉพาะในกรณีที่ดึงโดยไม่รู้ตัว เพื่อให้ผู้ป่วยควบคุมพฤติกรรมของตัวเอง แต่อย่าใช้วิธีการดุว่าหรือตำหนิแรง ๆ ให้ใช้วิธีเตือนให้เหมาะสม เพราะถ้าหากใช้อารมณ์ในการตำหนิ ผู้ป่วยอาจจะยิ่งดึงผมมากขึ้นก็ได้

การรักษา
- แพทย์จะอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจสาเหตุของโรค โดยผมที่ร่วงจะขึ้นใหม่ได้หากหยุดดึงผม
- หากมีความผิดปกติของผิวหนัง เช่น คันหนังศีรษะ หนังศีรษะอักเสบแพทย์จะให้การรักษาด้วยการให้ยาตามความเหมาะสม ได้แก่ ยาชนิดทายาชนิดฉีด หรือการใช้ยาสระผมลดอาการอักเสบของหนังศีรษะ
- หากผู้ป่วยยังไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของตนเองได้ อาจพิจารณาให้ยาชนิดรับประทานหรือปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรักษาและคลายความเครียดที่อาจเป็นสาเหตุของการดึงผม
ให้ผู้ป่วยหรือคนรอบข้างลองสังเกตพฤติกรรมก่อนว่าเวลาดึงผม ผู้ที่เป็นมักดึงผมตัวเองเวลาไหน เวลาเหงา เศร้า เบื่อ หรือเครียด เป็นต้น หรือชอบดึงผมในสถานการณ์ใด เช่น ขณะนั่งดูโทรทัศน์ ขณะนอนอยู่ในห้อง ฯลฯ เมื่อผู้ป่วยรู้ตัวแล้วก็จะควบคุมตัวเองได้ง่ายขึ้น
ผลกระทบ
- ผมบาง ผมร่วงเป็นหย่อม และศีรษะล้านจากการดึงผม – ผมที่ขึ้นมาใหม่หลังการดึงผมจะเส้นเล็ก และบางกว่าผมเดิม นอกจากนี้การดึงผมมากๆ ก็อาจจะหนังศีรษะอักเสบจนเกิดเป็นแผลเป็นได้ ทำให้ผมไม่ขึ้นอย่างถาวร
- เสียความมั่นใจ ทำให้มีปัญหาในการเข้าสังคม – เนื่องจากผมร่วง ศีรษะล้าน ส่งผลต่อจิตใจ ทำให้รู้สึกแย่กับตัวเอง และสูญเสียความมั่นใจไปจนไม่กล้ามีเพื่อน หรือเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
- เป็นโรคทางจิตเวชอื่นๆ – เกิดจากการเสียความมั่นใจ และความรู้สึกแปลกแยกจากสังคม อาจจะทำให้เกิดความเครียดทางอารมณ์ (Emotional Distress) และนำไปสู่การเกิดภาวะซึมเศร้าได้ (Depressed)
- ทำให้เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร – เกิดในกรณีที่กินผมเข้าไปหลังจากดึงผมออก ถ้ากินเข้าไปมากๆ จะเกิดการอุดตันในทางเดินอาหาร เพราะร่างกายของเราไม่สามารถย่อยเส้นผมได้ เมื่อก้อนเส้นผมไปขวางทางเดินอาหาร ก็จะเกิดเป็นลำไส้อุดตัน ขาดสารอาหารได้
ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ รามาแชนแนล
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่น ๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY