ปวดหลัง ปวดบั้นเอว ปัสสาวะเป็นเลือด เจ็บขณะปัสสาวะ สัญญาณเตือนอีกหนึ่งโรคที่ต้องระวัง ไตบวมน้ำ (Hydronephrosis)
โรคไตหลายคนคงคิดว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว และคงไม่เกิดขึ้นกับตัวเรา แต่ขอบอกเลยว่าไม่จริงถ้าใครที่มีพฤติกรรมที่ส่งเสริมการเป็นโรคได้ต้องระวังเลย! โดยเฉพาะคนที่ชอบทานเค็มต้องระวังเพราะ โรคไต = ภัยเงียบ คราวก่อนเราได้บอกไปแล้วว่า ไตถ้าหากถูกทำร้ายไปแล้ว 60% ร่างกายจะยังสามารถดำรงอยู่ได้โดยจะไม่แสดงอาการใดๆ ซึ่งวันนี้จะมาเตือนอีกหนึ่งโรคไตนั้นก็คือ ไตบวมน้ำ

ไตบวมน้ำเป็นภาวะที่สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ทั้งผู้ใหญ่ เด็ก และทารกในครรภ์ หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ ภาวะไตบวมน้ำมักไม่ส่งผลเสียใด ๆ ต่อร่างกายในระยะยาว แต่หากผู้ป่วยไม่ได้ไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาหรือปล่อยอาการทิ้งไว้นานเกินไป ภาวะไตบวมน้ำอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการทำงานของไตอย่างถาวรได้
สาเหตุของไตบวมน้ำ
- นิ่วในไต ก้อนนิ่วอาจอุดตันอยู่ในไต หรือบริเวณอื่น ๆ ของระบบทางเดินปัสสาวะได้
- มะเร็งบางชนิดอาจส่งผลให้เกิดการอุดตัน หรือขัดขวางทางเดินของน้ำปัสสาวะได้ เช่น มะเร็งไต มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งรังไข่
- โรคต่อมลูกหมากโต (Benign Prostatic Hyperplasia) ต่อมลูกหมากที่โตผิดปกติอาจไปเบียดท่อปัสสาวะจนส่งผลให้น้ำปัสสาวะไหลติดขัด
- การตั้งครรภ์ มดลูกที่ขยายตัวในช่วงตั้งครรภ์อาจไปกดทับท่อไตจนส่งผลให้น้ำปัสสาวะไหลลำบาก
- ทางเดินปัสสาวะตีบตัน โดยอาจเป็นผลมาจากการติดเชื้อ การผ่าตัด อาการบาดเจ็บ หรืออาจเป็นโดยกำเนิด
- อวัยวะบริเวณอุ้งเชิงกรานหย่อน เช่น ภาวะกระเพาะปัสสาวะหย่อน หรือภาวะมดลูกหย่อน
- ความผิดปกติทางเส้นประสาทหรือกล้ามเนื้อที่ส่งผลกระทบต่อไตหรือท่อไต
- สาเหตุอื่น ๆ เช่น ถุงน้ำในรังไข่ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในไตหรือท่อไต ภาวะปัสสาวะไม่ออก โรคเบาหวาน ภาวะปัสสาวะไหลย้อนกลับ หรือภาวะส่วนปลายสุดของท่อไตที่เชื่อมกับกระเพาะปัสสาวะบวมผิดปกติ (Uterocele)
สำหรับกรณีทารกในครรภ์ นอกจากสาเหตุข้างต้นแล้ว ภาวะไตบวมน้ำยังอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยอื่น เช่น การที่ร่างกายของทารกผลิตน้ำปัสสาวะมากขึ้นในช่วงใกล้คลอด หรืออาจเป็นผลมาจากการที่ท่อไตของทารกอยู่ผิดตำแหน่งตั้งแต่เกิด
อาการไตบวมน้ำ
ภาวะไตบวมน้ำเป็นภาวะที่เป็นผลมาจากโรคหรือภาวะผิดปกติอื่น ๆ ผู้ที่มีภาวะไตบวมน้ำจึงอาจพบอาการที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน ซึ่งลักษณะอาการอาจเกิดขึ้นได้ทั้งอย่างฉับพลันหรือแย่ลงอย่างช้า ๆ โดยอาการที่มักพบ เช่น
- ปวดหลังหรือปวดบั้นเอว และอาการจะยิ่งแย่ลงเมื่อดื่มน้ำมาก ๆ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- อาการเกี่ยวกับปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะบ่อยขึ้น รู้สึกเจ็บขณะปัสสาวะ ปริมาณน้ำปัสสาวะน้อยลง ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะไม่สุดหรือรู้สึกว่ามีปัสสาวะค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ กลั้นปัสสาวะไม่ได้
- เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย
- มีไข้
ภาวะอันตรายของไตบวมน้ำ
- ติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งสามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงอื่น เช่น ภาวะกรวยไตอักเสบ หรือการติดเชื้อในกระแสเลือด (Sepsis) ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการผิดปกติบางอย่าง เช่น ปัสสาวะขุ่น รู้สึกเจ็บแสบขณะปัสสาวะ น้ำปัสสาวะไหลเบา ปวดหลัง รู้สึกปวดบริเวณกระเพาะปัสสาวะ หนาวสั่น หรือไข้ขึ้น
- ผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาวได้ เช่น ภาวะไตวาย (Kidney Failure)
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่บางคนอาจพบอาการผิดปกติในลักษณะข้างต้น ผู้ที่มีภาวะไตบวมน้ำบางคนอาจไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ โดยเฉพาะในเด็ก แต่เนื่องจากภาวะไตบวมน้ำอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ ดังนั้น ผู้ที่พบอาการในลักษณะข้างต้นหรือเริ่มสังเกตพบอาการผิดปกติ เช่น ไข้ขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ทั้งในกรณีเด็กและผู้ใหญ่ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ
แหล่งที่มา Pobpad
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่นๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY