“งานหนักไม่เคยฆ่าใคร” คงเป็นคำพูดที่ไม่ถูกสักเท่าไหร่ เพราะความจริงแล้ว มีคนถูก “งานฆ่าตาย” หรือตายเพราะทำงานหนักเกิดขึ้นจริง และสถานการณ์ก็ดูจะทวีความรุนแรงมากขึ้น
การทำงานหนักจนเสียชีวิตไม่ใช่เพิ่งจะเกิดขึ้น ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาของหลายประเทศ โดยประเทศญี่ปุ่นเรียกอาการนี้ว่า Karoshi Syndrome หรือ “โรคคาโรชิ” การทำงานหนักเกินไปจนนำไปสู่ความตาย (death from over work) โรคคาโรชิเริ่มขึ้นครั้งแรกในช่วง ค.ศ. 1970 ซึ่งเป็นยุคฟื้นฟูหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่คนญี่ปุ่นมีค่านิยมการทำงานหนักเพื่อส่วนร่วม เพื่อสร้างชาติ และเพื่อศักดิ์ศรีองค์กร
สาเหตุการตายจากโรคคาโรชินั้นเกิดได้ 2 แบบ คือ ป่วยตาย เช่น ทำงานหนักจนหัวใจวาย แบบที่ 2 คือ ฆ่าตัวตาย อันมีสาเหตุมาจากความเครียด ความกดดัน ที่เกิดจากการพยายามตั้งคุณค่าในการทำงานให้ตัวเองมากเกินไป ซึ่งอาจเกินขีดจำกัดของร่างกายและจิตใจ
ไม่ใช่แค่ประเทศญี่ปุ่นที่ประสบปัญหานี้ ในประเทศจีนก็พบปัญหานี้เช่นกัน โดยเรียกอาการนี้ว่า “กั้วเหลาสื่อ” ซึ่งสถิติใน พ.ศ.2557 พบตัวเลขคนทำงานจนตายถึงปีละราว 600,000 คน หรือเฉลี่ยมีคนตายจากการทำงานหนักเกินเหตุวันละ 1,600 คน ส่วนอาชีพที่ทำงานหนักจนถึงขั้นเสียชีวิตในจีน ได้แก่ ผู้ที่มีอาชีพสื่อมวลชน นักโฆษณา วงการแพทย์ และไอที
ส่วนประเทศไทยนั้น ไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่ข่าวจากโลกออนไลน์และสื่อต่าง ๆ ก็บ่งบอกได้ว่า สถานการณ์ไม่แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ นัก
เช็กสัญญานทำงานหนักมากเกินไป?
เพื่อความไม่ประมาท มาลองสำรวจพฤติกรรมว่า คุณทำงานหนักเกินไปหรือเปล่า หากมีพฤติกรรมต่อไปนี้ ก็ควรหาวางมือจากงานแล้วหาเวลาหยุดพักผ่อนให้กับตัวเองและใช้เวลากับคนรอบข้างเสียบ้าง
- ออกจากออฟฟิศเป็นคนสุดท้ายทุกคืน
- ดื่มกาแฟอย่างน้อย 2 แก้ว เพื่อกระตุ้นตัวเองตอนเช้า 1 แก้วและช่วงบ่ายอีก 1 แก้ว
- อย่าถามว่าลาพักร้อนครั้งสุดท้ายไปเมื่อไร เพราะคุณจำไม่ได้
- ขาดปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวและเพื่อน
- ถึงแม้จะทุ่มเทเวลาให้กับการทำงาน แต่กลับขาดพลังและความกระตือรือร้นกับงานที่ทำ
- การออกกำลังกายคือการเดินไปยังเครื่องถ่ายเอกสาร หรือคุยงานกับเพื่อนร่วมงาน แล้วเดินกลับมาที่โต๊ะ
- นอนหลับยังฝันถึงงานที่ทำ
- อยู่กับอีเมล และอินเทอร์เน็ต เพื่อเช็กข้อมูลเกี่ยวกับงานตลอดเวลา
- ระดับความเครียดและความวิตกกังวลสูง
- คนรอบตัวพร่ำบอกให้คุณหยุดพัก
หากมีพฤติกรรมดังที่ได้กล่าวมา ถึงเวลาที่คุณจะหยุดพัก เพื่อฟื้นฟูร่างกายและจิตใจให้สดใสแข็งแรง สร้างแรงบันดาลใจในการทำงาน ปรับสมดุลที่ดีระหว่างชีวิตและการทำงาน ที่สำคัญป้องกันการหมดไฟในการทำงานด้วย
ข้อมูล : Jobsdb
ข่าวที่เกี่ยวข้อง