วันเฉลิมฉลองเทศกาลแห่งความสุขอย่างวันคริสต์มาสกำลังจะมาถึงอีกครั้ง ไบรท์ออนไลน์เชื่อได้เลยว่าไม่ว่าจะหันไปสิ่งที่เราพบเห็นกันส่วนใหญ่ คงหนีไม่พ้นต้นคริสต์มาสที่มาพร้อมการตกแต่งประดับประดาไปด้วยแสงไฟน้อยใหญ่ และเสียงเพลงแห่งความสุข เรียกได้ว่าถึงเทศกาลนี้ทีไรสิ่งที่ตามมาคือความสุข แต่จะเป็นอย่างไรถ้าคนรักดาราศาสตร์จะร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลนี้บ้าง ?
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) ขอร่วมฉลองเทศกาลนี้ด้วย “ต้นคริสต์มาสแห่งเอกภพ” หลายคนอาจจะมีความสงสัยว่า มันคือต้นอะไร ? สำหรับเจ้าต้นนี้คือ ต้นคริสต์มาสที่มีขนาดใหญ่สีแดง ซึ่งเกิดจากแก๊สไฮโดรเจนในอวกาศ (หู้ววววสุดยอด) แถมยังประดับด้วยลูกบอลสีฟ้าระยิบระยับแวววาว ด้วยแสงจากดาวฤกษ์เกิดใหม่ ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ยังมีการตกแต่งปลายยอดด้วยกรวยสีแดงคล้ำอีกด้วย
ภาพดังกล่าวมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า NGC 2264 เป็นชื่อเรียกของเนบิวลาแบบเรืองแสง (Emission Nebula) ขนาดใหญ่ และกระจุกดาวเปิด (Open Cluster) ที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน ถือเป็นกระจุกดาวอายุน้อยและยังคงความสว่างเป็นจำนวนมาก อยู่ในกลุ่มดาวยูนิคอร์น (Monoceros) ห่างจากโลกประมาณ 2,600 ปีแสง
โดยสาเหตุที่เรียกว่าต้นคริสต์มาส (Christmas Tree Cluster) นั้นเป็นเพราะการเรียงตัวของกระจุกดาวเป็นรูปสามเหลี่ยม คล้ายคลึงกับต้นคริสต์มาสพอดี และนอกจากนี้ยังมี ดาวแปรแสงชื่อ เอส โมโนซีโรทิส (S Monocerotis) หรือ 15 โมโนซีโรทิส (15 Monocerotis) อยู่ในตำแหน่งลำต้นของต้นคริสต์มาส ในขณะที่ดาวแปรแสงอีกดวงหนึ่งซึ่งเป็นดาวยักษ์สีน้ำเงินชื่อ V429 โมโนซีโรทิส (V429 Monocerotis) อยู่ในตำแหน่งยอดต้นไม้ เหนือขึ้นไปเป็นเนบิวลามืดสีแดงคล้ำรูปแท่งกรวย เรียกว่า เนบิวลารูปโคน (Cone Nebula)
สำหรับภาพนี้คือ หนึ่งในผลงานจากกล้องโทรทรรศน์ทางไกลขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ติดตั้ง ณ หอดูดาวสปริงบรู๊ค ประเทศออสเตรเลีย โดยบันทึก และประมวลภาพโดยคุณตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์ และคุณกีรติ คำคงอยู่
ข้อมูล และภาพ : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ