ต่อให้ชีวิตของเราเร่งรีบขนาดไหน แต่ปัจจุบันหลายคนยังคงมี “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” นั่งนาน ๆ ในเวลาทำงาน ก้มหน้าก้มตากดสมาร์ทโฟนตลอดเวลา ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้กำลังเป็นไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่ล้วนก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพของเราอย่างน่าหวาดกลัว
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย ให้ข้อมูลว่า คนไทยเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังสูงถึงร้อยละ 71 ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ จากข้อมูลพบว่า 1 ใน 3 ของคนไทยทั้งประเทศมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ และโดยเฉลี่ยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งสูงถึงเกือบ 14 ชั่วโมงต่อวันโดยไม่รวมช่วงเวลานอน ซึ่งหากส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมทางกายอย่างจริงจังจะช่วยลดการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ถึง 11,129 รายต่อปี และลดต้นทุนค่ารักษาพยาบาลได้ถึง 5,977 ล้านบาท
ข้อมูลดังกล่าวทำให้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันเปิดตัวแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ.2561-2573 ขึ้น ซึ่ง นพ.วชิระ ระบุถึงแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ. 2561-2573 ว่า วางยุทธศาตร์ไว้ 3 ข้อ ได้แก่ 1. การส่งเสริมกิจกรรมทางกายประชาชนทุกกลุ่มวัย 2.การส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย และ 3.การพัฒนาระบบสนับสนุนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย
ขณะที่ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า สสส. มุ่งหวังให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี ซึ่งกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มที่มีกิจกรรมทางกายน้อยที่สุด โดยเด็กและเยาวชนมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ อย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน เพียงร้อยละ27 เท่านั้น ขณะที่วัยผู้ใหญ่ มีกิจกรรมทางกายเพียงพออยู่ที่ ร้อยละ71 และผู้สูงอายุ อยู่ที่ร้อยละ 70
นายวัฒนาพร ระงับทุกข์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การมีกิจกรรมทางกายจะส่งผลดีต่อการเรียนรู้ และการพัฒนาทั้งด้านร่างกายและสมองของเด็กนักเรียน นักศึกษา นอกจากนี้ยังช่วยทำให้ประชาชนวัยทำงานมีร่างกายที่แข็งแรง เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
แผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกายนี้จะเห็นผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด ส่วนหนึ่งก็เกิดขึ้นมาจากการร่วมมือของบุคคลทุกกลุ่มด้วยเช่นกัน เพราะถ้าหากพวกคุณไม่คิดที่จะรักตัวเองตั้งแต่ตอนนี้ คุณอาจจะตายก่อนประสบความสำเร็จในชีวิตก็ได้