เหมรฺย คือ หนังไทยระทึกขวัญจากแดนใต้ เรื่องแรกของปีมังกร ที่นำเสนอเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่ผิดคำสาบาน สุดท้ายต้องแลกคืนด้วยชีวิต!
เรามาเริ่มต้นปีมังกรกันด้วยภาพยนตร์ไทยจากแดนใต้ ฝีมือการกำกับของนักร้องนักแสดงชาวใต้ เอกชัย ศรีวิชัย ซึ่งได้ดึงตัว ซี ศิวัฒน์ มาประกบคู่กับ เจนนี่ รัชนก (เจนนี่ ได้หมดถ้าสดชื่น) เพื่อเป็นตัวดำเนินเรื่องราวของความสยองขวัญสั่นประสาทในภาพยนตร์เรื่องนี้ กับ เหมรฺย (บน บาป สาป แช่ง)
วันนี้ทีมข่าว ไบรท์ทูเดย์ (Bright Today) จะพาทุกท่านไปทำความรู้จัก เหมรฺย (เหมย) คืออะไร ภาพยนตร์ไทยจากแดนใต้ ที่ถ่ายทอดความเร้นลับในเรื่องราวของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และมโนราห์ กับการบนบานสานกล่าวที่ไม่ยอมแก้ไข จนต้องชดใช้คืนด้วยชีวิต

เรื่องย่อ เหมรฺย อ่านว่า เหมย
หลังจากที่ อลิซ (รับบทโดย : เจนนี่ รัชนก) ต้องเลิกรากับสามี จึงจำเป็นต้องรับหน้าที่แม่เลี้ยงเดี่ยวในการดูแลลูกชาย ออกัส (รับบทโดย : มังกร ฟาบริชโช่) เด็กหนุ่มที่เติบโตมากับคำถามที่อยู่ภายในใจเกี่ยวกับพ่อของเขา เอ (รับบทโดย : ซี ศิวัฒน์) และเรื่องราวของตัวเอง ซึ่งแม้แต่แม่ของเขาเองก็ยังไม่เคยที่จะปริปากพูดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับพ่อของเขาเลยแม้แต่น้อยตั้งแต่โตมา
และเพราะคำสั่งเสียของพ่อก่อนตาย ทำให้ออกัสเริ่มพบกับความน่าสะพรึงกลัวจากอาถรรพ์ของมโนราห์ ที่พยายามดึงให้เขากลับไปรับรู้วิบากกรรมของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันอลิซก็พยายามทำทุกอย่างตามเหตุผล และความถูกต้องเพื่อที่จะรักษาลูกชายเอาไว้ แต่ยิ่งพยายามต่อต้านมากเท่าไหร่ เหตุการณ์เลวร้ายก็จะเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น
พิธีกรรม แก้เหมรฺย เป็นพิธีกรรมโบราณเพื่อตัดคำสาบาน และบนบานที่ฝังอยู่ในจิตวิญญาณ ระหว่างที่กำลังทำพิธี ความจริงอันเจ็บปวดที่ตามหลอกหลอนอลิซค่อยๆ เปิดเผยขึ้นทีละน้อย และในวินาทีสุดท้ายของชีวิตออกัส แล้วความรักของผู้เป็นแม่จะสามารถเอาชนะอาถรรพ์แห่งคำสัตย์สาบานที่กำลังจะพรากลูกชายของเธอไปได้หรือไม่ หรือสุดท้ายแล้วพิธีกรรมตัดเหมรฺย พิธีแก้บนอันศักดิ์สิทธิ์จะกลายเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความจริงที่ถูกปิดไว้ และรอวันทวงคืนอย่างสาสม

เหมรฺย (เหมรย) คืออะไร? ความหมาย
การบนบาน ในภาษาใต้จะเรียกว่า “เหมรฺย” สะกดว่า “สะเออ – หมร – ย อ่านว่า เหมย” หรือบางพื้นที่เรียกว่า “เหลยบน” ซึ่งการบนบานจะมีด้วยกัน 2 ชนิด คือ การบนบานด้วยปากเปล่า เรียกว่า “เหมรฺยปาก” และการบนบานด้วยวิธีนำเครื่องบูชาใส่ห่อกาบหมาก เรียกว่า “เหมรฺยห่อ”
โดยตามคตินิยมแล้ว หากผู้บนบานด้วยอะไรแก้ด้วยอย่างนั้น การบนด้วยโนราก็เช่นกัน หากเมื่อใดที่คำบนบานสำเร็จผลก็ต้องมีการนำโนรามารำแก้บน ซึ่งการรำแก้บนของโนราจะมีหลายแบบ เช่น การรำที่มีเครื่องดนตรี 5 ชิ้น รำเสร็จตัดเหมรฺย หรือ แก้บน หรือจะเป็นการำแก้บนแบบเวที มีแสง สี เสียง ประกอบการแสดง
การตัดเหมรฺย มีขึ้นเพื่อทำให้สัญญาที่ได้ตกลงถึงกาลสิ้นสุด ตามความเชื่อของชาวใต้ ถ้าหากมีการแก้เหมรฺยแล้วไม่มีการตัด เชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือ ครูหมอ (บางจำพวก) จะยังคงตามติดทวงสิ่งที่ต้องการเพิ่ม จะกลายเป็นสินบนที่จะต้องแก้จนกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นๆ จะพอใจ เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือครูหมอบางจำพวก เรียกร้องเกินกว่าที่ตกลงสัญญาไว้ ราชครูโนราจึงต้องเป็นผู้ตัดเหมรฺย เพื่อเป็นการบอกกล่าวให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือครูหมอ ได้รู้ว่าสิ่งที่ได้บนบานนั้นสิ้นสุดลงแล้ว
เหตุผลที่ต้องใช้ “โนราใหญ่” หรือ “ราชครูโนรา” ในการแก้บน
หากเมื่อใดที่มีการบนด้วยโนรา ผู้ที่แก้บนจะเป็นใครไปไม่ได้ เพราะผู้ที่จะสามารถทำพิธีตัดเหมรฺยแก้บนได้ นั่นก็คือ ราชครูโนราประจำคณะ หรือ โนราใหญ่ภายในคณะ ซึ่งเป็นโนราที่ผ่านการผูกผ้าตัดจุก หรือ บวชโนรา มาแล้วเท่านั้น อีกทั้งยังมีสิทธิ์ในการประกอบพิธี เนื่องจาก ราชครูโนรา จะต้องผ่านการอุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว ซึ่งตามความเชื่อ และขนบประเพณีของชาวใต้จะถือว่า ‘บุรุษที่ผ่านการอุปสมบทมาแล้วจะสามารถใช้มนตร์คาถาต่างๆ ได้ครบถ้วน และมีอานุภาพมากกว่าคนทั่วไป’
เนื่องจากพิธีการตัดเหมรฺยแก้บน ในภาคใต้นั้นจะต้องใช้คาถาสำหรับการแก้บนโดยเฉพาะ นั่นก็คือ “คาถาตัดหนวด” ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการแก้บนตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทั่วไป หรือแม้แต่โนราโรงครู ราชครูโนราเจ้าพิธี ก็ต้องใช้คาถาตัดหนวดเป็นคาถาในการตัดพันธสัญญาบนบานทั้งสิ้น
ขอบคุณข้อมูล : kapook