รายงานพิเศษ : มองจุดเปลี่ยนหลัง 24 มี.ค. ระเบิดเวลาชี้ชะตาประเทศ
กลายเป็นปรากฏการณ์สำคัญในวันเลือกตั้งล่วงหน้า 17 มี.ค.2562 มีสถิติคนไทยเข้ามาใช้สิทธิมากถึง 86.98 % จากผู้มาขอใช้สิทธิลงทะเบียนที่ 2.6 ล้านคน เป็นสัญญาณ “ตื่นตัว” จากความต้องการใช้สิทธิก่อนวันเลือกตั้งใหญ่ 24 มี.ค. ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งวันประวัติศาสตร์ทางการเมือง โดยมีอนาคตประเทศรอตัดสินอยู่ข้างหน้า
ถึงนาทีนี้ไม่ใช่แค่โค้งสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้งเท่านั้น แต่หลายพรรคกำลังเร่งทำคะแนนทางตรงก่อนถึงเส้นชัย 24 มี.ค. โดยเฉพาะท่าทีจากแคนดิเดตนายกฯ หลายพรรคได้ประกาศทิ้ง “ไพ่ใบสุดท้าย” เพื่อวางเดิมพันทางการเมืองภายหลังผลคะแนนประกาศเสร็จสิ้น

- “เพื่อไทย” มั่นใจเสียงไม่เอา “ประยุทธ์”
จาก 3 ขั้วอำนาจหลัก “เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์-พลังประชารัฐ” ถูกคาดการณ์จะไปแย่งเสียงข้างมากในสภาเพื่อเลือกนายกฯ โดยมีพรรค “ขนาดกลาง” ตั้งแต่อนาคตใหม่ ภูมิใจไทย ชาติไทย ชาติพัฒนา จะเป็น “ตัวแปร” สำคัญต่อการรวบรวมเสียงให้ทั้ง 3 กั๊ก ซึ่งอนาคตใหม่ชัดเจนแล้วว่าจะไม่จับมือกับ “พลังประชารัฐ” ไม่ว่าจะอยู่บนเงื่อนไขใด ขณะที่ “ประชาธิปัตย์” ขั้วสำคัญยังเลือกอยู่บนทางสามแพร่ง ถึงแม้ในจุดยืน “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ประกาศไม่เอา “เพื่อไทย-ประยุทธ์” แต่ยังไม่ตอบชัดว่าจะร่วมกับ “พลังประชารัฐ” หรือไม่ ส่วน “เพื่อไทย” ได้ทุบโต๊ะชัดเจนไม่เอาทั้ง “พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์” เพราะมั่นใจว่า เสียงจากพรรคแนวร่วมที่ไม่เอา “ประยุทธ์” จะเพียงพอต่อการฝ่า 2 ขั้วอำนาจขึ้นมาตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ถึงแม้ “ไทยรักษาชาติ” จะหมดอนาคตไปแล้วก็ตาม
- จับตานาทีต่อรองพรรคร่วมรัฐบาล
ทำให้เชื่อได้ว่าภายหลังปิดหีบเลือกตั้ง 17.00 น. วันที่ 24 มี.ค.ยาวไปจนถึงช่วงเช้าวันที่ 25 มี.ค. จะเป็นนาทีแห่งการ “แลกเปลี่ยน-ต่อรอง” จากผลเลือกตั้งที่เริ่มเห็นหน้าตาในหลายพื้นที่ ซึ่งทุกคะแนนเสียงจะเป็นตัวชี้วัดว่าพรรคการเมืองใดจะถือไพ่ในมือนำไปใช้ต่อรองได้มากกว่ากัน เพราะอย่าลืมจากตัวเลข 250 ส.ว. ที่หลายฝ่ายเชื่อว่าเป็น “ต้นทุนพิเศษ” ให้พลังประชารัฐ จะเป็นกำแพงขนาดใหญ่ที่ “เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์” ต้องกรุยทางเข้าไปตั้งรัฐบาล ถ้า “เพื่อไทย” รวบรวมเสียงจากพรรคการเมืองอื่นไม่มากพอกึ่งหนึ่งของที่ประชุมรัฐสภา 750 เสียง(รวม ส.ว.250 คน) หมายความว่าเพื่อไทยจะ “เสียเปรียบ” พรรคที่ได้เสียงมาเป็นอันดับ 1 หรือ 2 ทันที ทำให้เสียงในมือพรรคการเมืองที่ “แทงกั๊ก” ไว้ ก็พร้อมจะสวิงไปพรรคเสียงข้างมากได้ทุกเมื่อ

หรืออาจจะได้เห็นสมการ “พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์” จับมือกันบนเงื่อนไขไม่มี “ประยุทธ์” โดยพลิกเกมให้พลังประชารัฐช่วยดัน “อภิสิทธิ์” ขึ้นเป็นนายกฯ เพื่อดับกระแสต่อต้าน “ประยุทธ์” กลับมาเป็นผู้นำรัฐบาล บีบ “เพื่อไทย” และเครือข่ายไปเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน ในทางกลับกันหาก “ประชาธิปัตย์” กวาดเสียงส.ส.ในสภาไม่มากพอเพื่อหยั่งเสียงเลือก “อภิสิทธิ์” เป็นนายกฯได้ อาจได้เห็นประชาธิปัตย์กลับมาในบทฝ่ายค้านอีกครั้ง
กระทั่งการคิดไปถึงสูตร ส.ว.250 คนเข้ามาร่วมโหวตให้ “ประยุทธ์” และ “พลังประชารัฐ” ได้เป็นรัฐบาลก็จริง แต่ฝั่ง “เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์” จะกุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ทำให้สะเทือนไปถึงการบริหารรัฐบาลของพลังประชารัฐ จะถูกสั่งคลอนทุกครั้งในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะจะไม่มีเสียงส.ว.ช่วยยกมือ “ไว้วางใจ” ได้

- “โหวตโน” ตัวแปรสำคัญรวมเสียงเปิดสภา
สำหรับรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ให้อำนาจเสียง “โหวตโน” ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เมื่อ “ไทยรักษาชาติ” หายไปจากกระดานหาเสียง จนมีกระแสว่าบางพื้นที่ที่ไม่มีผู้สมัครจากเพื่อไทยและไทยรักษาชาติ กำลังถูกปลุกเร้าให้ฐานเสียงของทั้งสองพรรคพลิกเกมไปร่วมกา “โหวตโน” แทน ดังนั้นพื้นที่ใดเจอพิษเสียง “โหวตโน” มากกว่าคะแนนผู้สมัครส.ส.ที่มาเป็นอันดับ 1 พื้นที่นั้นต้องจัดให้เลือกตั้งใหม่ภายใน 30 วันโดยผู้สมัครส.ส.ทุกคนที่อยู่ในเขตนั้นต้อง “หมดสิทธิ์” กลับมาสมัครใหม่ไปด้วย จึงเท่ากับว่าหาก “โหวตโน” ครั้งนี้หากมีมากกว่า 20 เขตขึ้นไป เสียงของส.ส.จะไม่เพียงพอเปิดประชุมสภา เพื่อเลือกนายกฯในการประชุมครั้งแรก ก็จะไปเข้าล็อครัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ซึ่งไม่ได้กำหนดว่าต้องเลือกนายกฯ ภายในกี่วัน ก็หมายความว่า “รัฐบาล คสช.” จะคงในอำนาจไปจนกว่า สภาจะเลือกนายกฯคนใหม่ได้สำเร็จ

- เสียง ส.ว.ชี้ขาดนายกฯ คนที่ 30
แต่เมื่อเสียงส.ส.ครบตามกำหนดเปิดสภาเพื่อเลือกนายกฯ คนใหม่ได้ จะยังเข้าเงื่อนไข 250 ส.ว.ที่มีอยู่ในมือ คสช.จะโหวต “สวนทาง” ขั้วพรรคการเมืองที่รวมเสียงได้เกิน 376 เสียงขึ้นไปหรือไม่ เพราะหากเสียงโหวตจาก 250 ส.ว. ย้อนแย้งกับเจตนาของประชาชนที่เลือกส.ส.เข้ามาซึ่งพ่วงมากับ “แคนดิเดตนายกฯ” ในบัตรเลือกตั้งใบเดียวนั้น จะไปเข้าเงื่อนไขวิกฤตความขัดแย้งรอบใหม่กลางสภาให้กลับมาปะทุอีกครั้ง
เพราะชื่ออย่าง “สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” เบอร์ 1 นายกฯ เพื่อไทย “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าประชาธิปัตย์ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ตัวแทนพลังประชารัฐ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” จากปีกอนาคตใหม่ “เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส” หัวหน้าเสรีรวมไทย “กัญจนา ศิลปอาชา” หัวหน้าชาติไทยฯ “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” จากชาติพัฒนา หรือ “อนุทิน ชาญวีรกูล” จากภูมิใจไทย คนกลุ่มนี้จะเป็นว่าที่ “นายกฯ คนที่ 30” ท่ามกลางการชิงอำนาจที่มีเดิมพันสูงสุดกว่าทุกการเลือกตั้ง

- เก็บหลักฐานเตรียมร้องหลังเลือกตั้ง
ทว่าจากกระแสต้องการเปลี่ยนหน้ารัฐบาลก่อนหน้านี้ ต่อแรงคัดค้านการ “สืบทอดอำนาจ” จากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกวางกลไกทางกฎหมายไว้อย่างแยบยลในหลายมาตรา จนหลายฝ่ายเชื่อว่าเป็น “กับดัก” ที่รอไว้ “เชือด” ฝ่ายตรงข้าม ผ่านช่องทางร้องเรียน เตรียมฟ้องให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็น “โมฆะ” ทุกเมื่อ
ทั้งหมดจึงเป็นสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น เมื่อ “สูตร” ที่ถูกเซตไว้ ยังรอผลของคะแนนเสียงภายหลัง 24 มี.ค. โดยมี “ระเบิดเวลา” ความขัดแย้ง ถูกนำไปผูกบนเงื่อนไขการแย่งชิงอำนาจหลังเลือกตั้ง จนสุดท้ายอาจนำไปสู่สูตรการตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” ได้ทั้งสิ้น