กสทช.จ่อ “บริหาร-ให้ใบอนุญาต” กิจการ “ดาวเทียม” ทั้งหมด หลังร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯฉบับใหม่ประกาศใช้ สวนทางมติครม.ที่ให้อำนาจ “กระทรวงดีอี” บริหารกิจการดาวเทียมหลังสิ้นสุดสัมปทานปี 2564
เมื่อวันที่ 6 ก.พ. พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ….) พ.ศ…. อยู่ระหว่างรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ในวาระที่ 3 เมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การปรับปรุงแก้ไขร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 โดยมีสาระสำคัญ ได้แก่ กำหนดให้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานด้านดาวเทียมทั้งหมด ซึ่งเป็นการทำหน้าที่แทนรัฐในการรักษาไว้ซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ
ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ยังกำหนดให้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการประกอบกิจการ โดยใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติเข้ามาให้บริการในประเทศ เพื่อเป็นการเปิดกว้างให้มีทางเลือกในการใช้ประโยชน์ดาวเทียมที่หลากหลาย ลดการผูกขาด ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ
นอกจากนี้ ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้กำหนดสัดส่วนการให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยระบุว่าจะต้องจัดให้มีการใช้คลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือภาคประชาชน รวมกันในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 25% ของความสามารถในการส่งสัญญาณที่จะอนุญาตในแต่ละครั้ง
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ ยังกล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวยังแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นการถอดถอน กสทช. จากเดิมที่ต้องให้วุฒิสภาเป็นผู้ลงมติ เปลี่ยนให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีหน้าที่และอำนาจไต่สวนและวินิจฉัยการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาหรือส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกด้วย
ขณะเดียวกัน เนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้กำหนดเรื่องการจัดเลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พร้อมทั้งกำหนดว่า กรณีการแจ้งเหตุฉุกเฉิน ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจะไม่สามารถเรียกเก็บค่าบริการได้ และหากมีการโทรศัพท์ก่อกวนจะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2564 โดยให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ คือ เห็นควรเปิดคัดเลือกเอกชนเข้ามาดำเนินการบริหารจัดการดาวเทียมฯ ตามแนวทางของพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556
พร้อมกันนั้น ครม.มีมติตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ที่ให้การบริหารจัดดาวเทียมหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2564 นั้น เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) รวมทั้งให้กระทรวงดีอีเป็นผู้คัดเลือกเอกชนเข้ามาร่วมทุนฯกิจการดาวเทียมสื่อสารในประเทศดังกล่าว
“โดยที่มาตรา 60 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้รัฐ ต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน ดังนั้น ในการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับการบริหารกิจการอวกาศของรัฐบาล จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมและประโยชน์ของประชาชน ส่วนการบริหารจัดการดาวเทียมหลังสิ้นสุดสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล”มติครม.ระบุ