กสทช.แจงขั้นตอนคืนไลเซ่นส์ทีวีดิจิทัล-เยียวยาคนดูไม่น้อยกว่า 30 วันก่อน “จอดำ”

กสทช.แจงขั้นตอน-หลักเกณฑ์คืนใบอนุญาตทีวีดีจิทัล ระบุหลังบอร์ดกสทช.อนุมัติคืนใบอนุญาตแล้ว จะต้องออกอากาศอย่างน้อยกว่า 30 วันก่อน “จอดำ”

เมื่อวันที่ 7 พ.ค. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยระหว่างชี้แจงผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเกี่ยวกับประกาศสำนักงาน กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายค่าชดเชย อันเนื่องมาจากการคืนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ฯ ว่า หลังจากบอร์ดกสทช.อนุมัติคืนใบอนุญาตแล้ว ผู้ประกอบการทีวีช่องนั้นจะต้องออกอากาศตามแผนเยียวยาไม่น้อยกว่า 30 วัน

นายฐากร อธิบายว่า ตามขั้นตอนของประกาศฯ เมื่อผู้ประกอบการยื่นขอคืนใบอนุญาตภายในวันที่ 10 พ.ค.2562 แล้ว ผู้ประกอบการต้องส่งเอกสารให้กับสำนักงานกสทช.ภายใน 60 วัน หากส่งเร็วก็พิจารณาเสร็จเร็ว จากนั้นสำนักงานฯจะเสนอเรื่องไปให้ที่ประชุม กสทช.พิจารณา ซึ่งในการอนุมัติการคืนใบอนุญาตของกสทช.นั้น ที่ประชุมกสทช.จะกำหนดวันยุติการออกอากาศของผู้ประกอบการด้วย คือ ไม่น้อยกว่า 30 วัน หลังกสทช.อนุมัติให้คืนใบอนุญาต

“ท่านอาจจะถูกเยียวยา 45 วัน หรือ 30 วัน หรือ 60 วัน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการประชาสัมพันธ์ของท่านเพื่อทำให้ประชาชนทราบว่าช่องของท่านจะยุติการออกอากาศแล้ว และเมื่อท่านยุติการออกอากาศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เช่นหากกสทช.กำหนดวันเยียวยาของท่านเป็น 45 วัน หรือสมมุติว่าสิ้นสุดลงในวันที่ 15 ส.ค.2562 จากนั้นในวันรุ่งขึ้นให้ท่านมารับเงินค่าชดเชยจากกสทช.ได้เลย”นายฐากรกล่าว

นายฐากร กล่าวว่า ในส่วนการคำนวณเงินชดเชยนั้น จะนำเงินค่าใบอนุญาตงวดที่ 1-4 ที่ผู้ประกอบการจ่ายไปแล้ว คูณด้วยอายุใบอนุญาตที่เหลืออยู่ และหารด้วยอายุใบอนุญาตทั้งหมด จากนั้นจะนำเงินชดเชยเบื้องต้นที่ได้ไปหักด้วยกำไรปีต่อปีตลอดระยะเวลาการประกอบการ ซึ่งหากไม่มีกำไรเลยก็จะไม่ต้องหักอะไร จากนั้นจะหักด้วยค่าเช่าโครงข่ายดาวเทียม (Must Carry) และค่าเช่าโครงข่ายภาคพื้นดิน (MUX) ที่ภาครัฐเคยให้ จึงจะออกมาเป็นเงินชดเชย

“สมมุติว่าช่อง A จ่ายเงินค่าใบอนุญาตงวดที่ 1-4 มาแล้ว 400 ล้านบาท และมีการใช้ใบอนุญาตมาแล้ว 5 ปี ก็จะเหลือใบอนุญาตอายุ 10 ปี จากอายุใบอนุญาต 15 ปี ซึ่งเมื่อคำนวณตามสูตร คือ ให้เอา 400 ล้านบาท คูณด้วย 10 ปี และหารได้ 15 ปี ก็จะได้เงินชดเชยเบื้องต้น 267 ล้านบาท จากนั้นจะไปหักค่าใช้จ่ายและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น ถ้าได้กำไรก็ต้องหักกำไรออก รวมทั้งต้องหักค่าเช่าโครงข่ายฯที่ภาครัฐช่วยเหลือ ก็จะเหลือเงินชดเชยสุทธิออกมา”นายฐากรกล่าว

ส่วนการเรียงช่องทีวีดิจิทัลใหม่หลังจากมีการคืนช่องนั้น นายฐากร กล่าวว่า ทางกสทช.จะพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง

นายฐากร ระบุว่า สำหรับเงินที่จะนำมาชดเชยให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลยื่นขอคืนใบอนุญาตนั้น จะใช้เงินจากกองทุนของกสทช.จ่ายไปก่อน และเมื่อประมูลคลื่น 700 MHz แล้วจะนำเงินที่ได้จากประมูลไปหักกลบลบหนี้กับเงินที่กองทุนฯจ่ายไป ส่วนที่มีข้อห่วงใยว่าผู้ประกอบการโทรคมนาคมจะเข้าประมูลคลื่น 700 MHz หรือไม่นั้น ขอให้สบายใจได้ เพราะเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (7 พ.ค.) มีผู้ประกอบการโทรคมนาคมยื่นประสงค์ขอเข้าประมูลแล้ว 1 ราย หนังสือก็รับมาแล้ว

“วิธีการนี้แฟร์กับทุกฝ่าย ส่วนมีคนถามว่าให้เงินคืนมากเกินไปหรือเปล่า ขอตอบว่า เมื่อมีการคืนช่อง เช่น มีการคืน 6-7 ช่อง ทางกสทช. ก็จะนำคลื่นทีวีที่ได้คืนมาไปประมูลเป็นคลื่นโทรคมนาคมเพิ่มเติม สรุปคือรัฐก็ไม่ได้เสียประโยชน์อะไร และเป็นการแก้ปัญหาทีวีดิจิทัลไปพร้อมกันด้วย”นายฐากรย้ำ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า