ขีดเส้น 15 พ.ค.นี้ ลงทะเบียนยินยอมให้ข้อมูล รับสิทธิเว้นภาษี “รายได้ดอกเบี้ย” ไม่เกิน 2 หมื่นบาท/ปี

“สรรพากร” ออกประกาศให้เจ้าของบัญชีเงินที่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากไม่เกินปีละ 2 หมื่นบาท ลงทะเบียนกับแบงก์ภายใน 15 พ.ค.นี้ ก่อนส่งสรรพากรตรวจสอบ หากต้องการได้สิทธิยกเว้นภาษีจากรายได้ดอกเบี้ยเงินฝากต่อ

เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 เม.ย.2562 นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ได้ลงนามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 344) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์และผลตอบแทนเงินฝาก ตามหลักการของศาสนาอิสลามที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามตามหลักการวะดีอะฮ์

สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ กำหนดให้ผู้มีเงินได้ที่ได้รับดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝาก ไม่เกินปีละ 2 หมื่นบาท ต้อง “ยินยอม” ให้ธนาคาร ซึ่งเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝาก นำส่งข้อมูลดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากต่อกรมสรรพากร เพื่อจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ เมื่อได้รับดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝาก ไม่เช่นนั้นจะต้องเสียภาษี หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ของรายได้จากดอกเบี้ย จากปัจจุบันที่ผู้ฝากเงินได้รับผ่อนผันไม่ต้องเสียดอกเบี้ย

ทั้งนี้ ให้ธนาคารซึ่งเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝาก นำส่งข้อมูลดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากทุกบัญชี ต่อกองเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมสรรพากร โดยจัดทำขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามรูปแบบและนำส่งตามวิธีการที่กำหนดบนเว็บไซต์ของกรมสรรพากร http://www.rd.go.th

สำหรับรายละเอียดของประกาศฉบับนี้ ประกอบด้วย ข้อ 3 ระบุว่า ดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝากที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้

(1) ดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝากทุกบัญชีรวมกัน มีจำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 20,000 บาท ตลอดปีภาษีนั้น

(2) ชื่อบัญชีเงินฝากและเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรที่ใช้ในการเปิดบัญชีเงินฝากจะต้องเป็นของผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝากนั้น

(3) ผู้มีเงินได้ซึ่งได้รับดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝาก ต้องยินยอมให้ธนาคารทุกธนาคารซึ่งเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝาก นำส่งข้อมูลดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากของผู้มีเงินได้ต่อกรมสรรพากรตามรูปแบบที่ธนาคารกำหนดโดยให้ธนาคารนำส่งข้อมูลดังกล่าวต่อกรมสรรพากรตามข้อ 5 และเก็บหลักฐานการยินยอมไว้เพื่อให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบต่อไป

(4) ผู้มีเงินได้ต้องไม่นำดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากที่ได้รับไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ส่วนข้อ 4 ระบุว่า กรณีที่ผู้มีเงินได้ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามข้อ 3 ผู้มีเงินได้นั้นไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และให้ธนาคารซึ่งเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งตามมาตรา 50 (2) และมาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากรหากธนาคารไม่ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่ง ให้ธนาคารนำส่งภาษีที่ต้องนำส่งพร้อมกับเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องนำ ส่ง ตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อ 5 เมื่อผู้มีเงินได้ให้ความยินยอมตามข้อ 3 (3) แล้ว ให้ธนาคารซึ่งเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ย หรือผลตอบแทนเงินฝากนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากทุกบัญชี ต่อกองเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมสรรพากร โดยจัดทำขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามรูปแบบและนำส่งตามวิธีการที่กำหนดบนเว็บไซต์ของกรมสรรพากร http://www.rd.go.th การนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากตามวรรคหนึ่ง ให้นำส่งภายในกำหนดเวลา ดังนี้

(1) สำหรับข้อมูลที่เกี่ยวกับการคำนวณเพื่อจ่ายดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากในครึ่งปีแรก โดยคำนวณถึงวันที่ 15 พฤษภาคม ให้นำส่งภายในวันที่ 20 พฤษภาคมของปีนั้น

(2) สำหรับข้อมูลที่เกี่ยวกับการคำนวณเพื่อจ่ายดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากทั้งปี โดยคำนวณถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน ให้นำส่งภายในวันที่ 20 พฤศจิกายนของปีนั้น

(3) สำหรับข้อมูลการจ่ายดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากในครึ่งปีแรก ซึ่งได้จ่ายก่อนหรือในวันที่ 30 มิถุนายน ให้นำส่งภายในเดือนกรกฎาคมของปีนั้น

(4) สำหรับข้อมูลการจ่ายดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากทั้งปี ซึ่งได้จ่ายก่อนหรือในวันที่ 31 ธันวาคม ให้นำส่งภายในเดือนมกราคมของปีถัดไป

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงิน กล่าวว่า ประกาศฉบับนี้จะสร้างภาระให้กับแบงก์และประชาชนเจ้าของบัญชีเงินฝาก เพราะผู้ที่มีรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากไม่เกิน 20,000 บาท/ปี และต้องการได้สิทธิยกเว้นหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ต่อไป จะต้องมาลงทะเบียนกับทางแบงก์ และหากผู้มีเงินได้เป็นเจ้าของบัญชีมากกว่า 1 ธนาคาร ก็จะต้องลงทะเบียนกับทุกธนาคาร

นอกจากนี้ การกำหนดให้เจ้าของบัญชีจะต้องมาลงทะเบียนยินยอมภายในวันที่ 15 พ.ค.2562 เพื่อที่แบงก์จะได้นำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรภายในวันที่ 20 พ.ค.2562 ถือว่าเป้นระยะเวลาที่น้อยเกินไป ในขณะที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ในปัจจุบันกว่า 135 ล้านบัญชี แบ่งเป็นธนาคารพาณิชย์เอกชนกว่า 80 ล้านบัญชี และธนาคารของรัฐ 58 ล้านบัญชี อีกทั้งแบงก์จะต้องมีการลงทุนระบบไอที เพื่อรองรับการนำส่งข้อมูลของผู้ที่ยินยอมฯไปยังกรมสรรพากร

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ณ เดือน ก.พ.2562 มีบัญชีเงินฝากประเภท “บัญชีออมทรัพย์” ในระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งสิ้น 88,074,876 บัญชี มียอดเงินฝากรวม 7,573,553 ล้านบาท

ในจำนวนนี้เป็นบัญชีที่มียอดเงินฝากไม่เกิน 5 หมื่นบาท 77,707,552 บัญชี มียอดเงินฝาก 366,956 ล้านบาท ,เป็นบัญชีที่มียอดเงินฝากเกิน 5 หมื่นบาทแต่ไม่เกิน 1 แสนบาท 3,476,479 บัญชี มียอดเงินฝาก 244,257 ล้านบาท ,เป็นบัญชีที่มียอดเงินฝากเกิน 1 แสนบาทแต่ไม่เกิน 2 แสนบาท 2,677,458 บัญชี มียอดเงินฝาก 370,821 ล้านบาท และเป็นบัญชีที่มียอดเงินฝากเกิน 2 แสนบาทแต่ไม่เกิน 5 แสนบาท 2,271,076 บัญชี มียอดเงินฝาก 707,168ล้านบาท

ในขณะที่บัญชีเงินฝากประเภท “บัญชีฝากประจำ” ตั้งแต่ 3 เดือนไปจนถึงมากกว่า 2 ปี มีทั้งสิ้น 8,792,702 บัญชี ยอดเงินฝากรวม 4,782,707 ล้านบาท

อ่านเพิ่มเติม http://www.rd.go.th/publish/fileadmin/user_upload/kormor/newlaw/dg344.pdf

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า