ครม.เปิดเสรีดาวเทียม อนุมัติแนวทาง “ดาวเทียมต่างชาติ” ให้บริการในไทย

ครม. เห็นชอบร่างแนวทางให้ดาวเทียมต่างชาติเข้ามาให้บริการในไทย พร้อมยึดร่างกม.จัดสรรคลื่นความถี่ฯฉบับใหม่ ให้ กสทช. กำกับดูแล-ให้ใบอนุญาตกิจการ “ดาวเทียวในประเทศ” 

เมื่อวันที่ 5 มี.ค. พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างแนวทางดำเนินการและร่างแนวนโยบายเกี่ยวกับกิจการดาวเทียม 2 ฉบับ ได้แก่  1.ร่างแนวทางดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการดาวเทียมวงโคจรประจำที่ (GSO) ตามมาตรา 60 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และ 2.ร่างนโยบายการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศ

สำหรับสาระสำคัญของร่างแนวทางดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการดาวเทียมวงโคจรประจำที่ (GSO) ได้กำหนดแนวทางการอนุญาตให้ผู้ประกอบการไทย ใช้สิทธิข่ายงานดาวเทียมในนามประเทศไทย

โดยหากเป็นข่ายงานดาวเทียมที่มีอยู่เดิมทั้งหมด 21 ข่ายงาน ให้นำข่ายงานดาวเทียมที่ไม่มีการใช้งานตามสัญญาสัมปทานหรือการอนุญาตอื่นใดมาจัดชุด (package) และคัดเลือกผู้ประกอบการไทยตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ราชการกำหนด แต่หากเป็นข่ายงานดาวเทียมใหม่ หากมีผู้ประสงค์จะขอใช้สิทธิ สามารถทำได้โดยแจ้งความประสงค์ต่อ ดส. และเข้าสู่กระบวนการอนุญาตให้ใช้สิทธิต่อไป โดยนำหลักการมาก่อนได้ก่อน (first come, first served)

ส่วนหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอนุญาตให้ผู้ประกอบการดาวเทียมสื่อสารใช้สิทธิข่ายงานดาวเทียมในนามประเทศไทย รวมทั้งค่าธรรมเนียมการอนุญาตนั้น จะต้องมีเงื่อนไขในการให้สิทธิ

เช่น ส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาดาวเทียมโดยคนไทยและเทคโนโลยีของคนไทยเป็นลำดับแรก ,ผู้ประกอบการดาวเทียม ผู้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมอุปกรณ์และสถานีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิการใช้วงโคจรดาวเทียมของไทย จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและการกำกับดูแลของไทยทุกประการ และต้องปฏิบัติตามกฎหมายด้านความมั่นคงของประเทศ ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

และสถานีควบคุมดาวเทียม หรือ Telemetry, Tracking, Command and Monitoring (TTC&M) ต้องตั้งในประทศไทย และต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลและการควบคุมโดยรัฐบาลไทย เป็นต้น

พล.ท.วีรชน กล่าวว่า ในระหว่างที่ยังไม่ประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) การให้สิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในฐานะรัฐ ดังนั้น ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นหน่วยงานที่เสนอขออนุมัติจาก ครม.

ทั้งนี้ เมื่อร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯมีผลใช้บังคับแล้ว ให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดำเนินการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

ส่วนสาระสำคัญของร่างนโยบายการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศนั้น กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้ดาวเทียมต่างชาติเข้ามาให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์ ซึ่งต้องขออนุญาตและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงาน กสทช. ประกาศกำหนด รวมทั้งจะต้องจัดตั้งนิติบุคคลและมีสถานประกอบการในประเทศไทย (Local Presence) และต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด

เช่น หากเป็นกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ต้องมีหุ้นของคนไทยตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามพ.ร.บ.กสทช. และต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่ห้ามการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว หากเป็นกิจการโทรคมนาคม ต้องมีหุ้นของคนไทย ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามพ.ร.บ.กิจการโทรคมนาคม และต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่ห้ามการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว เป็นต้น

ขณะที่เงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติหลังจากเข้าสู่ตลาดแล้ว เช่น ดาวเทียมต่างชาติและผู้ประกอบการที่ใช้สิทธิการเข้าตลาดต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้อง ประเทศไทยมีสิทธิกำกับดูแลเรื่องสื่อและเนื้อหา ผู้รับใบอนุญาตต้องระงับการเผยแพร่เนื้อหาเมื่อได้รับแจ้งว่าเนื้อหาขัดกับกฎหมาย และดาวเทียมต่างชาติต้องเคารพและปฏิบัติตามเงื่อนไขของกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องในการกำหนดความรับผิดของตัวกลาง เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทใดประเภทหนึ่ง ต้องใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติเป็นการชั่วคราว (ad hoc) ดำเนินการตามภารกิจข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้  1.ภารกิจของพระราชวงศ์ 2.ภารกิจเกี่ยวกับภัยพิบัติแห่งชาติ 3.ภารกิจเกี่ยวกับความมั่นคงทางทหาร 4.ภารกิจเกี่ยวกับสาธารณสุขและการศึกษา 5.ภารกิจถ่ายทอดกิจกรรมสำคัญของชาติหรือระหว่างประเทศ

6.ภารกิจเกี่ยวกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 7.ภารกิจซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนกับรัฐบาล และ8.ภารกิจซึ่งเป็นการให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสาธารณะและสังคมที่สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาระบบเศรษฐกิจดิจิทัล

พล.ท.วีรชน กล่าวว่า ในระหว่างที่ร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ให้กระทรวงดิจิทัลฯ ทำหน้าที่กำกับดูแลตามกฎหมายและนโยบายนี้ไปก่อน และร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มีผลมีผลใช้บังคับแล้ว ให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า