ครม.ยกเลิกสัมปทาน “ดาวเทียมสื่อสาร” ในประเทศ หลังสิ้นสุดสัมปทานในปี 2564 เดินหน้าหาเอกชนร่วมทุนฯ ยันไม่มีการต่ออายุสัมปทานให้ “บมจ.ไทยคม” อีกแล้ว
เมื่อวันที่ 29 ม.ค. นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2564 โดยเห็นควรเปิดคัดเลือกเอกชนเข้ามาดำเนินการบริหารจัดการดาวเทียมฯ ตามแนวทางของพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556
“ครม.เห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ที่ว่าจะไม่มีการต่ออายุหรือขยายเวลาการดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศทุกดวง แม้ว่าดาวเทียวจะมีอายุทางวิศวกรรมเหลืออยู่หลังสิ้นสุดสัญญาในปี 2564 แต่จะใช้วิธีคัดเลือกเอกชนเข้ามาบริหารจัดการดาวเทียมสื่อสารในประเทศทุกดวงที่มีอายุเหลืออยู่ รวมทั้งทรัพย์สินต่างๆ ตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ซึ่งหมายความว่าจะไม่มีการให้ระบบสัมปทานเหมือนเดิมแล้ว”นายพุทธิพงษ์กล่าว
นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ครม.ยังมีมติเห็นชอบหลักการให้บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ดำเนินการเชื่อมต่อระบบขับเคลื่อน ซึ่งเป็นการต่ออายุการใช้งานดาวเทียมไทยคม 5 ที่จะหมดอายุการใช้งานลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ให้สามารถใช้งานต่อไปได้ไปจนถึงสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2564 ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะไม่มีผลทำให้อายุสัญญาสัมปทานดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป
นายพุทธิพงษ์ ยังกล่าวว่า มาตรา 60 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 บัญญัติให้รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่ และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน ดังนั้น การบริหารจัดดาวเทียมหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2564 นั้น จะให้เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) รวมทั้งเป็นผู้คัดเลือกเอกชนเข้ามาร่วมทุนฯกิจการดาวเทียมสื่อสารในประเทศดังกล่าว