“ทหารไทย-ธนชาต” แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ หลังเซ็นเอ็มโอยูควบรวม 2 ธนาคารมูลค่า 1.4 แสนล้านบาท พร้อมขึ้นแท่นธนาคารใหญ่ที่สุดอันดับ 6 ของประเทศ ด้วยสินทรัพย์ 1.9 ล้านล้านบาท คาดควบรวมแล้วเสร็จในปีนี้
เมื่อวันที่ 26 ก.พ. บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) และธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ทำหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 26 ก.พ.ได้มีการลงนามลงนามบันทึกข้อตกลงแบบไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย (MOU)ระหว่าง 5 ฝ่าย ได้แก่ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ,ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ,ING Groep N.V. หรือ ING , บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) และ The Bank of Nova Scotia หรือ BNS เพื่อกำหนดกรอบความเข้าใจและหลักการสำหรับการเจรจาร่วมกันต่อไปเกี่ยวกับการเข้าทำธุรกรรมต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการรวมกิจการระหว่างธนาคารทหารไทย และธนาคารธนชาต เพื่อร่วมดำเนินธุรกิจธนาคารด้วยขนาดที่ใหญ่ขึ้น
อย่างไรก็ตาม ก่อนการรวมกิจการ ธนาคารธนชาตจะดำเนินการปรับโครงสร้างทางธุรกิจ เพื่อเสริมบทบาทการดำเนินธุรกิจ Financial Holding Company ของทุนธนชาตให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และเพื่อให้การดำเนินธุรกิจภายหลังการรวมกิจการสอดคล้องกับทิศทางการดำเนินธุรกิจปัจจุบันของธนาคารฯ ทั้งนี้ คาดว่าธุรกรรมการควบรวมกิจการของทั้ง 2 ธนาคารน่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2562
หนังสือที่ธนาคารทหารไทยแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุว่า หลังการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารทหารไทย และธนาคารธนชาต จะทำให้ขนาดและศักยภาพทางธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมุ่งสู่การเป็นธนาคารชั้นนำขนาดใหญ่ของไทย โดยธนาคารภายหลังการรวมกิจการจะมีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท ฐานลูกค้ากว่า 10 ล้านคน และมีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 6 ในอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ไทย ขณะที่ธนาคารทั้งสองแห่งมีจุดแข็งที่จะส่งเสริมซึ่งกันและกัน
ขณะที่การทำธุรกรรมครั้งนี้คาดว่าจะมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 130,000-140,000 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ อาจมีการปรับมูลค่าในขั้นตอนสุดท้าย เนื่องมาจากการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะ (Due Diligence) และมูลค่าหุ้นทางบัญชีของธนาคารธนชาต และบริษัทในเครือล่าสุด โดยคู่สัญญาจะตกลงชำระค่าตอบแทนให้แก่กันในรูปแบบของเงินสดและเงินสดส่วนหนึ่งจะนำกลับมาลงทุนในธนาคารฯ
หนังสือยังระบุด้วยว่า ธนาคารทหารไทยจะจัดหาเงินทุนสำหรับการเข้าทำธุรกรรมครั้งนี้ ผ่านการระดมทุนทั้งการออกตราสารหนี้และการออกหุ้นเพิ่มทุน โดยเงินทุนจากการออกหุ้นเพิ่มทุนคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 70% ของมูลค่าธุรกรรม ซึ่งในส่วนการออกหุ้นเพิ่มทุนประมาณ 50,000 -55,000 ล้านบาท จะเป็นการออกหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ ทุนธนชาต และ BNS
ส่วนเงินทุนจำนวนที่เหลืออีกประมาณ 40,000 – 45,000 ล้านบาท ธนาคารคาดว่าจะออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อเสนอ ขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของธนาคารฯ โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นหลักปัจจุบันของธนาคาร รวมทั้งอาจจะมีการออก หุ้นเพื่อเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนต่อไป และ/หรือ บุคคลในวงจำกัดกับนักลงทุนรายใหม่หรือนักลงทุนรายเดิม
“ภายหลังจากการเข้าทำธุรกรรมแล้วเสร็จและมีการเพิ่มทุนตามที่จำเป็น ING กระทรวงการคลัง และทุนธนชาต คาดว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นหลักของธนาคาร โดย ING และทุนธนชาตจะถือหุ้นในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 20% ส่วน BNS คาดว่าจะถือหุ้นในสัดส่วนที่น้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ”หนังสือที่ธนาคารทหารไทยแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุ
นอกจากนี้ ภายหลังการควบรวมจะมีการใช้ชื่อทางการค้าใหม่ (Rebranding) โดยพิจารณาจากจุดแข็งในเชิงพาณิชย์ของชื่อทางการค้าเดิมของทั้ง 2 ธนาคาร โดยชื่อทางการค้าใหม่ที่แน่นอนจะขึ้นอยู่กับการอนุมัติของคณะกรรมการธนาคารของธนาคาร