ธปท.เผยตั้งแต่ต้นปีบาทแข็ง 2.3% แนะผู้ส่งออกประกันความเสี่ยง “ค่าเงิน”

ธปท.แนะผู้ส่งออกป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เผยตั้งแต่ต้นปีค่าเงินบาทแข็งค่า 2.3% ถือว่าแข็งระดับกลางๆ สอดคล้องกับค่าเงินตลาดเกิดใหม่-ประเทศเพื่อนบ้าน

เมื่อวันที่ 4 มี.ค. น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)  เปิดเผยหลังการหารือกับนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า สรท.ขอให้ธปท.ดูแลค่าเงินบาทให้เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลอื่นๆในภูมิภาค ซึ่งในปีนี้ต้องยอมรับค่าเงินบาทมีความผันผวนมากและเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว เนื่องจากค่าเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าและอ่อนค่าในบางช่วง

อย่างไรก็ตาม สรท.จะเน้นย้ำกับสมาชิกให้ทำประกันความเสี่ยงและซื้อขายเป็นสกุลเงินท้องถิ่น เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน ซึ่งปัจจุบันธปท.อนุญาตให้ค้าขายกับต่างประเทศด้วยเงินสกุลท้องถิ่นได้ 4 สกุล คือ เงินหยวนของจีน, เงินเยนของญี่ปุ่น, เงินรูเปียะห์ของอินโดนีเซีย และเงินริงกิตของมาเลเซีย

น.ส.กัณญภัค กล่าวว่า สรท.จะขอดูตัวเลขการส่งออกในไตรมาส 1 ก่อนว่าเป็นอย่างไร จากนั้นจะพิจารณาทบทวนเป้าหมายการส่งออกปีนี้อีกครั้ง ซึ่งอาจจะต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่คาดว่าการส่งออกจะเติบโต 5% ก็ได้ เนื่องจากค่าเงินบาทมีความผันผวน รวมทั้งผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งส่งผลกระทบทำให้การส่งออกไทยติดลบต่อเนื่อง 3 เดือน หรือตั้งแต่เดือนพ.ย.2561-ม.ค.2562

น.ส.วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท.และสรท. ได้หารือร่วมกันถึงทิศทางการค้าโลก การส่งออกของไทยและค่าเงิน โดยเห็นร่วมกันว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้ท้าทายมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน และโจทย์สำคัญ คือ ผู้ประกอบการจะสามารถรับมือกับความผันผวนของตลาดการเงินโลกได้อย่างไร

สำหรับการส่งออกของไทยที่ชะลอลงในช่วงที่ผ่านมานั้น เป็นผลจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะบรรยากาศการค้าโลก การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า รวมทั้งการปรับลดสินค้าคงคลัง (inventory) ของผู้ประกอบการจากความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการส่งออกของประเทศ อื่นๆ ที่มีแนวโน้มชะลอลง เช่น การส่งออกของสิงคโปร์ที่ติดลบมากกว่า 10% ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา

ส่วนการส่งออกที่ชะลอตัวในบางอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์นั้น เป็นผลจากสงครามการค้าที่เริ่มมีผลกระทบชัดเจน ขณะที่แนวโน้มการส่งออกไทยในระยะข้างหน้าจะขึ้นอยู่กับบรรยากาศของการค้าระหว่างประเทศและอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าเป็นหลัก ส่วนผลกระทบของค่าเงินต่อการส่งออกนั้น มีไม่มาก และความสัมพันธ์ของสองเรื่องนี้ไม่ชัดเจน เห็นได้จากการส่งออกของประเทศเพื่อนบ้านที่ชะลอลง แม้ค่าเงินของประเทศเหล่านั้นไม่ได้แข็งค่าเท่าเงินบาท

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย

“ตั้งแต่ต้นปี 2562 เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นประมาณ 2.3% ซึ่งเป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินเหรียญสหรัฐ และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเป็นสำคัญ ในขณะที่เงินลงทุนในหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติ ไม่ได้ทำให้เงินบาทแข็งค่า ดังที่เห็นจากตัวเลขส่วนนี้ว่าเป็นการไหลออกสุทธิ ส่วนภาพรวมเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับสกุลเงินของประเทศ emerging markets และประเทศเพื่อนบ้าน โดยการแข็งค่าและความผันผวนของเงินบาทอยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น”น.ส.วชิรากล่าว

น.ส.วชิรา ระบุว่า ในบางช่วงที่เงินบาทแข็งค่าเร็วในลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจ ซึ่งธปท.ได้เข้าดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เวลากับเอกชนในการปรับตัวในระยะข้างหน้า ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนเคลื่อนไหวได้ 2 ทาง ตามความผันผวนของเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลก

ดังนั้น ภาคเอกชนควรพิจารณาป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนทั้ง 2 ด้าน อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งทำได้หลายวิธี โดยเริ่มจากการเลือกกำหนดราคาสินค้า (invoicing) ในรูปเงินบาทหรือเงินสกุลคู่ค้า แทนการใช้เงินเหรียญสหรัฐซึ่งที่ผ่านมาผันผวนมาก เนื่องจากนโยบายสำคัญ เช่น trade war ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการไทยยังเลือกกำหนดราคาในรูปเงินเหรียญสหรัฐเกือบ 80% แม้จะค้าขายกับผู้ประกอบการสหรัฐเพียง 10% เท่านั้นเอง

ส่วนผู้ประกอบการที่ในอนาคตมีภาระต้องชำระเงินในสกุลต่างประเทศ ก็อาจฝากเงินไว้ในรูปเงินตราต่างประเทศ (FCD) เพื่อลดผลกระทบจากการผันผวนของค่าเงิน ซึ่งปัจจุบันธปท.ได้เผยแพร่อัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม FCD บนเว็บไซต์แบงก์ชาติ  เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม FCD ระหว่างธนาคารได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นผลจากการที่ สรท. ได้เข้าหารือธปท. ในการหารือครั้งที่ผ่านมา

“ผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้เครื่องมือทางการเงินป้องกันความเสี่ยง เช่น การซื้อ options ปัจจุบันภาครัฐมีโครงการ FX Options ระยะที่ 2 เริ่มตั้งแต่เดือนพ.ย.2561 เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถซื้อ options หรือ lock rate เพื่อประกันความเสี่ยง โดยโครงการในระยะที่ 2 ได้ขยายวงเงินค่าธรรมเนียมที่ภาครัฐสนับสนุน จาก 30,000 บาทเป็น 50,000 บาทต่อราย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถล๊อคเรทมูลค่าประมาณ 1.5 แสนเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 4.75 ล้านล้านบาท โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย”น.ส.วชิรากล่าว

นอกจากนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการใช้เครื่องมือได้หลากหลาย ธปท.ได้ผลักดันให้มีการเปิดเผยราคา forward บนเว็บไซต์ธปท. เพื่อเพิ่มความโปร่งใสและให้ผู้ประกอบการสามารถใช้เป็นราคาอ้างอิง ในการเข้าทำธุรกรรมดังกล่าว และสนับสนุนการต่อรองราคาได้ดีขึ้น

ขณะเดียวกัน ธปท.ได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงิน เช่น ลดขั้นตอนและเอกสารประกอบการทำธุรกรรม FX รวมถึงอนุญาตให้นักลงทุนไทยที่มีสินทรัพย์ทางการเงินตั้งแต่ 50 ล้านบาท ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางในไทยในวงเงิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี โดยภาคเอกชนที่ต้องการความสะดวกในเรื่องการทำธุรกรรม FX สามารถสมัครเป็น Qualified companies (QC) ซึ่งจะทำให้การแสดงเอกสารหลักฐานคล่องตัวขึ้น

“ในจังหวะที่เงินบาทแข็งค่าเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์นำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อยกระดับผลิตภาพ ลดต้นทุน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของสินค้าไทย และจะช่วยให้มีอำนาจในการกำหนดราคา (pricing power) ได้ดีขึ้นในระยะยาว”น.ส.วชิรากล่าว

น.ส.วชิรา ยังกล่าว สรท.และธปท.เห็นร่วมกันว่า ท้ายที่สุดแล้วในระยะยาวไม่มีใครสามารถกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนได้ เพราะ เรื่องนี้เป็นผลจากปัจจัยภายนอกประเทศที่ควบคุมไม่ได้เป็นสำคัญ แต่โจทย์ที่อาจจะสำคัญมากกว่าและต้องร่วมมือกัน คือ การช่วยผู้ประกอบการไทยให้สามารถปรับตัวและรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นเรื่องที่จะอยู่ไปอีกนาน

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า