ธพว.เดินหน้าปล่อยกู้ “ร้านโชห่วย” เกือบ 4 แสนรายทั่วประเทศ คิดดอกเบี้ย 3 ปีแรก 0.42% ต่อเดือน ขณะที่ ม.หอการค้า เผยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ปรับตัวน้อย ระบุมีลูกค้าเก่าอยู่แล้ว-ไม่มีเงินทุน
เมื่อวันที่ 26 มี.ค. นายพงชาญ สำเภาเงิน รองกรรมการผู้จัดการ รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า ธุรกิจร้านค้าโชห่วยเกือบ 4 แสนรายทั่วประเทศ มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจระดับฐานรากเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากอยู่ใกล้ชิดชุมชน แต่ด้วยการแข่งขันสูงและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป จึงจำเป็นต้องปรับตัว เพื่อเพิ่มความสามารถธุรกิจและเพิ่มรายได้
ทั้งนี้ ธนาคารได้จัดกิจกรรมเพื่อยกระดับธุรกิจโชห่วยมาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่ง “เติมทักษะ” ให้ความรู้ เช่น ด้านบริหารจัดการค้าปลีกสมัยใหม่ ระบบบัญชี และขยายตลาดออนไลน์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ธนาคารยัง “เติมทุน” ผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน โดยผู้ประกอบการร้านโชห่วย ค้าปลีกค้าส่ง ธุรกิจเกษตรแปรรูป อาชีพอิสระ ท่องเที่ยวชุมชน และกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ สามารถขอกู้เงินจากธนาคารเพื่อนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนได้ แบ่งเป็นบุคคลธรรมดา 3 ปีแรกคิดดอกเบี้ย 0.42% ต่อเดือน ปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี และหากยกระดับเป็นนิติบุคคล คิดดอกเบี้ย 3 ปีแรกเพียง 0.25% ต่อเดือน ปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจ “สถานภาพผู้ประกอบการร้านโชห่วย” โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,246 ราย ว่า ร้านโชห่วยส่วนใหญ่ หรือ 85.99% ดำเนินธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา และอีก 14.01% ในรูปแบบนิติบุคคล โดย 90.10% เป็นเจ้าของคนเดียว ส่วนใหญ่ 33.09% ทำอาชีพนี้มา 7-10 ปี มีรายได้เฉลี่ย 51,665.94 บาทต่อเดือน และต้องดูแลสมาชิกในครอบครัวเฉลี่ยประมาณ 4 คน
ผลสำรวจพบว่า ร้านโชห่วย 31.7% จะใช้บ้าน/ทาวน์เฮาส์ทำเป็นร้าน และส่วนใหญ่ 28.59% ตั้งอยู่ในตัวเมืองจังหวัด ทั้งนี้ ร้านโชห่วยส่วนใหญ่ หรือ 61.6% จะขายสินค้าจิปาถะ ส่วน 38.4% ขายสินค้าเฉพาะอย่าง
ส่วนแหล่งที่มาของสินค้า พบว่า 41.3% มาจากพนักงานขาย 31.2% ซื้อจากห้างหรือซูเปอร์มาร์เก็ต และ 27.5%ซื้อจากร้านค้าส่งขนาดใหญ่ในตัวเมือง โดยกลุ่มตัวอย่าง 61.7% บอกว่า มีรายได้จากการขายสินค้าในร้านเท่านั้น ส่วน 38.3% มีรายได้เสริมจากบริการอื่นๆด้วย เช่น ตู้หยอดเหรียญ เติมเงินมือถือ รับชำระบิล ถ่ายเอกสาร/รับ-ส่งแฟกซ์ และอื่นๆ เป็นต้น ด้านการออมนั้น เฉลี่ย 7,282.66 บาทต่อเดือน ซึ่ง 59.16% ออมทุกเดือน
ผลสำรวจยังพบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ร้านโชห่วย 24.48% ไม่มีการปรับตัวใดๆ เลย เพราะคิดว่า ไม่มีความจำเป็น และมีทุนจำกัด และ 39.77% มีปรับตัวน้อย เพราะบอกว่ามีลูกค้าเก่าอยู่แล้วและไม่มีทุนจะพัฒนา ส่วน 22.62% ปรับตัวระดับปานกลาง มีเพียง 13.12% ปรับตัวอย่างมากเพื่อจะยกระดับธุรกิจ ปรับเปลี่ยนร้านให้ทันสมัย สร้างความประทับใจแก่ลูกค้า เช่น ปรับปรุงร้านใหม่ เพิ่มโปรโมชั่นหรือบริการเสริมต่างๆ และมีการระบุราคาที่ชัดเจน เป็นต้น
“กลุ่มตัวอย่าง 23.97% ระบุว่า มีการค้าขายออนไลน์เสริม เพราะเห็นถึงพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไป ส่วน 76.03% ยังไม่มีการขายออนไลน์เสริม โดยให้เหตุผลต่างๆ เช่น มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ยอดขายดีอยู่แล้ว ไม่รู้ทำอย่างไร คิดว่าสินค้าที่ขายไม่โดดเด่น และกลัวถูกโกง เป็นต้น”นายธนวรรธน์กล่าว
เมื่อสอบถามต้นทุนในการทำธุรกิจร้านโชห่วย พบว่ามาจากค่าสินค้า ค่าเช่า ค่าบริหารจัดการ ค่าแรง ค่าขนส่ง รวมเฉลี่ยที่ 21,761.48 บาทต่อเดือน โดย 53.13% มีหนี้สินเฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ 462,075.86 บาท ผ่อนชำระเฉลี่ย 11,681.11 บาทต่อเดือน แยกเป็นหนี้ในระบบจากสถาบันการเงิน 218,723.41 บาท ผ่อนชำระต่อเดือน 37,534.81 บาท และเป็นหนี้นอกระบบจากการกู้ยืมนายทุน ญาติ พี่น้อง หรือแชร์ 347,382.00 บาท ผ่อนชำระต่อเดือน 5,754.52 บาท
นอกจากนี้ เมื่อถามถึงความต้องการสินเชื่อและการเข้าถึงสินเชื่อ พบว่า 47.99% มีความต้องการสินเชื่อ และแทบทั้งหมดต้องการสินเชื่อในระบบ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องธุรกิจ ซื้อสินค้าไปขาย ปรับปรุงร้าน ขยายธุรกิจ ชำระหนี้ วงเงินเฉลี่ยที่ต้องการ คือ 182,500 บาท โดย 57.06% บอกว่าสามารถกู้ในระบบได้ แต่ 42.94% คิดว่ากู้เงินในระบบไม่ได้ เพราะสาเหตุ เช่น หลักประกันไม่พอ ไม่มีประวัติการเคลื่อนไหวทางบัญชี โครงการไม่เป็นที่สนใจของธนาคาร เป็นต้น