ศูนย์วิจัยธ.ก.ส. คาดราคาข้าวเปลือกเจ้าเดือนมี.ค.ลดเหลือตันละ 7,551 บาท เหตุค่าเงินบาทแข็ง-ผลผลิตข้าวนาปรังเวียดนาม-กัมพูชาออกสู่ตลาด ขณะที่ราคาหมูแพงขึ้น
เมื่อวันที่ 3 มี.ค. นายสมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนมี.ค.2562 โดยคาดว่าราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% จะลดลงจากเดือนก่อน 0.58-1.24% อยู่ที่ราคา 7,551-7,602 บาท/ตัน เพราะค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นและผลผลิตข้าวนาปรังของประเทศไทย เวียดนาม และกัมพูชากำลังออกสู่ตลาด
ส่วนข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาจะลดลงจากเดือนก่อน 0.64-2.35% อยู่ที่ราคา 9,887-10,060 บาท/ตัน เนื่องจากผลผลิตข้าวเหนียวนาปรังกำลังทยอยออกสู่ตลาด ขณะที่ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย หรือเพิ่มขึ้น 0.18-0.59% อยู่ที่ราคา 15,574-15,638 บาท/ตัน เนื่องจากความต้องการข้าวหอมมะลิยังมีอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการเสนอราคารับซื้อในราคาที่สูง
สำหรับยางพาราแผ่นดิบ ราคาจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 3.52-4.56% อยู่ที่ราคา 42.64-43.12 บาท/กก. เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลงเพราะเข้าสู่ฤดูยางผลัดใบ เกษตรกรชาวสวนยางหยุดกรีดยางในช่วงนี้เพื่อเป็นการพักต้นยางพาราให้สามารถสร้างการเติบโตในระยะถัดไป
ปาล์มน้ำมัน ราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.39–2.71% อยู่ที่ราคา 2.59-2.65 บาท/กก.เนื่องจากแผนนโยบายภาครัฐในการช่วยพยุงราคาปาล์มน้ำมัน โดยให้โรงสกัดรับซื้อปาล์มน้ำมันจากเกษตรกรในราคาสูงเพื่อนำมาสกัดเป็นน้ำมันปาล์มสำหรับใช้ผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า และแนวโน้มผลผลิตปาล์มออกสู่ตลาดลดลงจากฤดูกาลมรสุม
มันสำปะหลัง ราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย 0.46-3.70% อยู่ที่ราคา 2.17-2.25 บาท/กก.เนื่องจากผลผลิตที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวมีคุณภาพดีจากเปอร์เซ็นแป้งสูง ส่งผลให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาเพิ่มขึ้น
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาจะปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน 0.50-1.50% มาอยู่ที่ราคา 8.08-8.16 บาท/กก.เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดหลังนาทยอยออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความต้องการใช้เพื่อผลิตอาหารสัตว์ทรงตัวส่งผลให้ราคาที่เกษตรกรขายได้ปรับลดลง
ส่วนน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาเฉลี่ยในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.20-1.00% อยู่ที่ราคา 13.39-13.50 เซนต์/ปอนด์ (9.23-9.31 บาท/กก.) เพราะการปรับขึ้นของราคาน้ำมันช่วยหนุนราคาน้ำตาลสัญญาล่วงหน้า ทำให้บราซิลนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลมากกว่าน้ำตาล ประกอบกับราคาขายน้ำตาลขั้นต่ำภายในประเทศของอินเดียที่สูงขึ้นอาจกระตุ้นให้ผู้ผลิตน้ำตาลของอินเดียเพิ่มกำลังการผลิตน้ำตาลเพื่อขายภายในประเทศมากขึ้น ทำให้การส่งออกน้ำตาลทรายลดลง
ขณะที่ราคาสุกร คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.46–9.63% อยู่ที่ราคา 67.50 – 70.00 บาท/กก. เนื่องจากความต้องการบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกรยังคงมีผลต่อการผลิตและราคาสุกร
กุ้งขาวแวนนาไม ราคาจะลดลงจากเดือนก่อน 1.75-4.68% อยู่ที่ราคา 163 – 168 บาท/กก. เนื่องจากแนวโน้มค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นส่งผลให้การส่งออกชะลอตัวลง ปริมาณผลผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการบริโภคในประเทศอยู่ ณ ระดับที่ใกล้เคียงกับเดือนก่อน