สัญญาน้ำมันดิบ WTI ร่วง 3.4% ปิดที่ 51.68 เหรียญสหรัฐ ต่ำสุดในรอบเกือบ 5 เดือน หลังสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐพุ่ง 6.8 ล้านบาร์เรล กังวลสงครามการค้าสหรัฐ-จีน
เมื่อคืนวันพุธ (5 พ.ค.) สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) งวดส่งมอบเดือนก.ค. ปิดที่ 51.68 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ลดลง 1.80 เหรียญสหรัฐ หรือลดลง 3.4% ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ งวดส่งมอบเดือนส.ค. ปิดที่ 60.63 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ลดลง 1.34 เหรียญสหรัฐ หรือลดลง 2.2%
สัญญาซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ลดลงมากกว่า 3% แตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 5 เดือน หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) รายงานว่า สต็อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 31 พ.ค.2562 พุ่งขึ้น 6.8 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 849,000 บาร์เรล
ในขณะที่สต็อกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 3.2 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมันกลั่น ซึ่งรวมถึงฮีตติ้งออยล์และน้ำมันดีเซลพุ่งขึ้น 4.6 ล้านบาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ยืดเยื้อยาวนาน รวมถึงการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีสินค้าจากเม็กซิโก ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดน้อยลง
ทั้งนี้ นักลงทุนจับตาการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และพันธมิตร ที่กรุงเวียนนาในวันที่ 25-26 มิ.ย.นี้ เพื่อพิจารณานโยบายการผลิตน้ำมันในช่วงครึ่งปีหลัง โดยรมว.พลังงานของซาอุดิอาระเบีย ส่งสัญญาณว่าจะคงนโยบายลดกำลังการผลิตน้ำมันต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้
ด้านบมจ.ไทยออยล์รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันประจำวันที่ 6 มิ.ย. ว่า เมื่อวานนี้ (5 มิ.ย.) ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 31 พ.ค.2562 ปรับเพิ่มขึ้น 6.8 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลดลง 849,000 บาร์เรล ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐอยู่สูงกว่าระดับค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง ไปแตะที่ระดับ 483.3 ล้านบาร์เรล ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค.2560
นอกจากนี้ กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 100,000 บาร์เรล/วัน ไปสู่ระดับสูงสุดในประวัติการณ์ที่ 12.4 ล้านบาร์เรล/วัน
ขณะที่บริษัทผลิตน้ำมันรายใหญ่ของรัสเซียแสดงความคิดเห็นว่า บริษัทควรได้รับการชดเชยจากรัฐบาล หากรัสเซียยังคงร่วมมือกับกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ที่จะขยายการปรับลดกำลังการผลิตไปจนถึงสิ้นปีนี้
ส่วนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2562 ลง จากระดับร้อยละ 6.3 ไปสู่ระดับร้อยละ 6.2 เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับปัญหาสงครามการค้าระหว่าสหรัฐกับจีนที่ยังคงยืดเยื้อ