สัญญาน้ำมันดิบ WTI ร่วง 2.8% ปิดที่ 61.81 เหรียญ ตลาดกังวลอุปทานน้ำมันล้นตลาด หลังกำลังการผลิตสหรัฐพุ่งแตะ 12.3 ล้านบาร์เรล/วัน
เมื่อคืนวันพฤหัส (3 พ.ค.) สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) งวดส่งมอบเดือนมิ.ย. ปิดที่ 61.81 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ลดลง 1.79 เหรียญสหรัฐ หรือลดลง 2.8% ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ งวดส่งมอบเดือนก.ค. ปิดที่ 70.75 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ลดลง 1.43 เหรียญสหรัฐ หรือลดลง 2%
สัญญาซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ร่วงลงแรง และลงมาแตะระดับต่ำสุดในรอบ 1 เดือนหรือนับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. เนื่องจากนักลงทุนมองว่าการเพิ่มขึ้นของสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐจะมีส่วนช่วยในการบรรเทาภาวะอุปทานน้ำมันตึงตัว อันเกิดจากการที่สหรัฐยกเลิกการผ่อนผันนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านและความวุ่นวายทางการเมืองในเวเนซุเอลา
โดยเมื่อคืนวันพุธ (1 พ.ค.) สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) รายงาน สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐพุ่งขึ้น 9.9 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 26 เม.ย. มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.5 ล้านบาร์เรล
EIA ยังระบุว่า การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐอยู่ที่เฉลี่ย 12.3 ล้านบาร์เรล/วัน ในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 26 เม.ย. เพิ่มขึ้น 100,000 บาร์เรล/วัน จากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ และเพิ่มขึ้น 2 ล้านบาร์เรล/วัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ EIA คาดว่าการผลิตน้ำมันของสหรัฐจะอยู่ที่เฉลี่ย 12.4 ล้านบาร์เรล/วันในปีนี้ และ13.1 ล้านบาร์เรล/วันในปี 2563
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงรอผลประชุมของกลุ่มโอเปกในเดือนมิ.ย.นี้ ซึ่งที่ประชุมจะทบทวนนโยบายการผลิตน้ำมัน และจะตัดสินใจว่าจะยังคงลดการผลิตน้ำมันต่อไปหรือไม่ รวมทั้งติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มโอเปกอย่างใกล้ชิด หลังสหรัฐยกเลิกคำสั่งผ่อนผันแก่ประเทศที่นำเข้าน้ำมันจากอิหร่านและเรียกร้องให้ซาอุดีอาระเบียผลิตน้ำมันเพิ่ม
ด้านบมจ.ไทยออยล์รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันประจำวันที่ 3 พ.ค. ว่า แม้ว่าสหรัฐได้ยุติการผ่อนผันการนำเข้าน้ำมันดิบให้กับ 8 ประเทศจากอิหร่านแล้ว แต่ตลาดน้ำมันดิบยังคงอยู่ในภาวะขาลง เนื่องจากประเด็นการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านของสหรัฐนั้น ส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำมันดิบช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้เมื่อคืนวานนี้ (2 พ.ค.) ราคาน้ำมันดิบ WTI และเบรนท์ปรับลดลงราวร้อยละ 2.8 และร้อยละ 2 ตามลำดับ
ตลาดยังเผชิญกับความกังวลอุปทานล้นตลาด หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 9.9 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 470.6 ล้านบาร์เรล และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 8เดือน ด้วยปริมาณการผลิตถึง 12.3 ล้านบาร์เรล/วัน
นาย Kirll Dmitriev ผู้อำนวยการกองทุนความมั่งคั่งของรัสเซีย (RDIF) ส่งสัญญาณว่า รัสเซียจะกลับมาเพิ่มกำลังการผลิตอีกครั้ง หลังรัสเซียลดกำลังการผลิตร่วมกับกลุ่มโอเปกกว่า 213,000 บาร์เรล/วัน ในเดือนเม.ย.2562 เมื่อเทียบกับเดือนต.ค.2561 ซึ่งลงไปแตะระดับ 11.23 ล้านบาร์เรล/วัน แต่ยังคงสูงกว่าโควต้าของกลุ่มโอเปก