สัญญาน้ำมัน WTI บวก 0.4% ปิดที่ 62.02 เหรียญสหรัฐ หลังสถานการณ์ในตะวันออกลางตึงเครียด ขณะที่ EIA เผยสต็อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐพุ่ง 5.4 ล้านบาร์เรล
เมื่อคืนวันพุธ (15 พ.ค.) สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) งวดส่งมอบเดือนมิ.ย. ปิดที่ 62.02 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.24 เหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 0.4% ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ งวดส่งมอบเดือนก.ค. ปิดที่ 71.77 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.53 เหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 0.7%
สัญญาซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 2 วันทำการ เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่า สถานการณ์ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในตะวันออกกลาง นับตั้งแต่มีการก่อวินาศกรรมเรือบรรทุกน้ำมันของซาอุดิอาระเบีย และสถานีสูบน้ำมัน 2 แห่งใกล้กรุงริยาด อาจส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันในตลาดโลก
โดยล่าสุดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐออกแถลงการณ์สั่งการให้เจ้าหน้าที่สหรัฐที่ไม่จำเป็นเดินทางออกจากอิรัก เนื่องจากกังวลต่อภัยคุกคามจากกองกำลังที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ในขณะที่กองกำลังทหารของสหรัฐได้เพิ่มการเฝ้าระวังทั้งในอิรักและซีเรียมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของทั้งสหรัฐและจีน ทำให้เกิดความกังวลว่าความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกอาจชะลอตัว ซึ่งล่าสุดสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ได้ทบทวนคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกในปีนี้ โดยคาดว่าความต้องการจะเพิ่มขึ้นต่ำกว่า 1.3 ล้านบาร์เรล/วัน
นอกจากนี้ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) รายงานว่า สต็อกน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐเพิ่มขึ้น 5.4 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 800,000 บาร์เรล ขณะที่การนำเข้าน้ำมันของสหรัฐเพิ่มขึ้นมากกว่า 900,000 บาร์เรล/วัน และการส่งออกน้ำมันเพิ่มขึ้น 1 ล้านบาร์เรล/วัน สู่ระดับ 3.3 ล้านบาร์เรล/วัน
ด้านบมจ.ไทยออยล์รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันประจำวันที่ 16 พ.ค. ว่า เมื่อวานนี้ (15 พ.ค.) ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มต่อเนื่อง จากสถานการณ์ความตึงเครียดที่มากขึ้นในตะวันออกกลาง โดยล่าสุดสหรัฐสั่งให้ชาวอเมริกันออกจากประเทศอิรัก หลังสถานีส่งออกน้ำมันดิบและเรือบรรทุกน้ำมันของซาอุดิอาระเบียสองแหล่งถูกโจมตีบริเวณนอกชายฝั่งสหรัฐอาหรับอิมิเรตส์
โดยตลาดมีความกังวลว่าอุปทานน้ำมันดิบโลกจะปรับตัวลดลง เนื่องจากหนึ่งในสามของปริมาณน้ำมันดิบโลกมาจากภูมิภาคตะวันออกกลาง
ขณะที่สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐ ปรับเพิ่ม 5.4 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 472 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย.2560 และเป็นระดับที่สูงกว่า 5 ปีเฉลี่ย
อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ อย่างซาอุดิอาระเบียและสหรัฐ ยังคงกดดันตลาด โดยสำนักงานพลังงานสากล (IEA) เผยว่า หากกลุ่มโอเปกสามารถเพิ่มกำลังการผลิตเพียงเล็กน้อย ก็สามารถชดเชยปริมาณน้ำมันดิบที่ปรับลดจากอิหร่านและเวเนซุเอลาได้