“บอร์ดบีโอไอ” อนุมัติส่งเสริมลงทุน “ศูนย์ซ่อมอากาศยาน” ของบริษัทการบินไทยและพันธมิตร วงเงินลงทุน 6.4 พันล้าน พร้อมยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรผลิตน้ำมันมาตรฐานยูโร 5
เมื่อวันที่ 25 ก.พ. น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้การส่งเสริมโครงการขนาดใหญ่ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน และโครงการขนส่งทางอากาศ มูลค่าการลงทุนรวม 40,462 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.บริษัท เอดับเบิ้ลยู (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมโครงการผลิตชุดเกียร์ส่งกำลังอัตโนมัติ เงินลงทุนทั้งสิ้น 7,244 ล้านบาท ตั้งโครงการในจังหวัดชลบุรี โครงการนี้จะผลิตเพื่อป้อนค่ายรถยนต์ชั้นนำทั้งในประเทศและในต่างประเทศ ซึ่งช่วยลดการนำเข้าชุดเกียร์ส่งกำลังอัตโนมัติจากต่างประเทศที่นำมาผลิตรถยนต์ในประเทศไทย
2.บริษัท เจนเนอรัล รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมโครงการผลิตยางล้อสำหรับยานพาหนะ เงินลงทุนทั้งสิ้น 9,721 ล้านบาท ตั้งโครงการในจังหวัดระยอง โครงการนี้จะสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากยางพาราในประเทศตามนโยบายรัฐบาล โดยจะใช้วัตถุดิบซึ่งเป็นยางธรรมชาติในประเทศประมาณ 35,398 ตัน/ปี มูลค่าประมาณ 1,673 ล้านบาท/ปี
3.MR. XUNNING JU ได้รับส่งเสริมโครงการผลิตยางล้อสำหรับยานพาหนะ เงินลงทุนทั้งสิ้น 10,061 ล้านบาท ตั้งโครงการในจังหวัดชลบุรี โครงการนี้จะสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากยางพาราในประเทศตามนโยบายรัฐบาล โดยจะใช้วัตถุดิบซึ่งเป็นยางธรรมชาติในประเทศประมาณ 23,838 ตัน/ปี มูลค่าประมาณ 1,433.3 ล้านบาท/ปี
4.เรืออากาศโท รณชัย วงศ์ชะอุ่ม ได้รับส่งเสริมโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน โดยเป็นการร่วมทุนของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กับบริษัทผู้ผลิตอากาศยานรายใหญ่ของโลก เงินลงทุนทั้งสิ้น 6,468 ล้านบาท ตั้งโครงการที่เมืองการบินภาคตะวันออก (EEC-A) จังหวัดระยอง โครงการนี้จะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานรุ่นใหม่ รวมทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพของช่างอากาศยานตามมาตรฐานสากล รวมทั้งช่วยดึงดูดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยานและการบินให้เข้ามาลงทุนในไทยมากยิ่งขึ้น
5.บริษัท ไทยไลอ้อน เมนทารี จำกัด ได้รับส่งเสริมโครงการขนส่งทางอาอากาศ เงินลงทุนทั้งสิ้น 6,968 ล้านบาท โดยเป็นกิจการสายการบินราคาประหยัด ให้บริการทั้งเส้นทางการบินภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
น.ส.ดวงใจ กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอยังมีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเร่งรัดให้ผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันในประเทศ ลงทุนเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำมันให้ได้มาตรฐานยูโร 5 ให้เร็วขึ้น เพื่อลดค่าฝุ่นละอองและมลพิษสิ่งแวดล้อมจากน้ำมันในระยะยาว โดยผู้ประกอบการที่ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการนี้ภายในวันที่ 31 ธ.ค.2562 จะได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรในการปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน
ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันในไทยมี 6 ราย โดย 2 รายมีการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนอุปกรณ์และเครื่องจักรเพื่อผลิตน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ไปแล้ว ส่วนอีก 4 รายอยู่ระหว่างการเตรียมหารและคาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุน-3.5 หมื่นล้านบาท
น.ส.ดวงใจ ยังกล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอมีมติเห็นชอบปรับปรุงเงื่อนไขลงทุน “กิจการฐานความรู้” เช่น กิจการปรับปรุงพันธุ์พืชหรือสัตว์ กิจการวิจัยและพัฒนา กิจการบริการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ กิจการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ กิจการบริการออกแบบทางวิศวกรรม และกิจการซอฟต์แวร์ เป็นต้น รวมทั้งเห็นชอบให้กิจการการผลิตหรือให้บริการระบบเกษตรสมัยใหม่ เป็นกิจการฐานความรู้ที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนด้วย