“บิ๊กฉัตร” ลงพื้นที่เยี่ยมภัยแล้ง พร้อมติดตามการปรับแผนปลูกข้าวทุ่งบางระกำ ขณะที่กรมฯเตรียมพื้นที่เป้าหมาย 3.8 แสนไร่ เป็นทุ่งรับน้ำหลาก หวังตัดยอดน้ำไม่ให้ท่วมเมือง เร่งประชาสัมพันธ์แผนส่งน้ำเลี้ยงข้าวนาปี 2562
เมื่อวันที่ 3 เม.ย. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ได้แก่ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน และ ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานการณ์ภัยแล้งในเขตพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก พร้อมทั้งติดตามช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ และการปรับการเพาะปลูกข้าวทุ่งบางระกำ หรือโครงการบางระกำโมเดล 2562
นอกจากนี้ พล.อ.ฉัตรชัย ยังเป็นประธานในพิธีเปิดการส่งน้ำ เพื่อเริ่มต้นการเพาะปลูกข้าวนาปีโครงการบางระกำโมเดลด้วย
ดร.ทองเปลว กล่าวว่า โครงการบางระกำโมเดล 62 เป็นโครงการที่ต่อยอดมาจากโครงการบางระกำโมเดล 60 และ 61 โดยจะส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำของแม่น้ำยมและแม่น้ำเจ้าพระยา ดำเนินการปลูกข้าวและเก็บเกี่ยวให้ทันก่อนฤดูน้ำหลาก เพื่อเตรียมพื้นที่ทุ่งนาที่เก็บเกี่ยวแล้วไว้สำหรับน้ำหลากจากแม่น้ำในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นการตัดยอดน้ำและป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่เมือง
ทั้งนี้ ทุ่งรับน้ำจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.พื้นที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เนื้อที่ 265,000 ไร่ โดยเริ่มปลูกในเดือนเมษายนและเก็บเกี่ยวในเดือนสิงหาคม สามารถรองรับน้ำหลากได้ 500 ล้าน ลบ.ม. และ2.พื้นที่ใต้ จ.นครสวรรค์จำนวน 12 ทุ่ง เนื้อที่ 1,149,898 ไร่ โดยเริ่มปลูกในเดือนพฤษภาคมและเก็บเกี่ยวในเดือนกันยายน สามารถรองรับน้ำหลากได้ 1,533 ล้าน ลบ.ม.
“จากความสำเร็จของการดำเนินโครงการบางระกำโมเดล ทำให้ล่าสุดปี 2562 กรมฯได้เตรียมพื้นที่พื้นที่เป้าหมายเพื่อรองรับน้ำหลากไว้ที่ 382,000 ไร่ เท่ากับปี 2561 ซึ่งสามารถรองรับน้ำหลากได้ประมาณ 550 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ในปี 2561 ที่ผ่านมา มีการใช้พื้นที่รองรับน้ำหลาก ประมาณ 90,000 ไร่ ในการรองรับน้ำหลากประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์เมตร”ดร.ทองเปลวกล่าว
ส่วนการเพาะปลูกฤดูนาปี 2562 ให้เริ่มเพาะปลูกตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 ซึ่งกรมชลประทานได้วางแผนการส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกฤดูนาปี 2562 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 โดยเริ่มดำเนินการส่งน้ำเข้ามาในคลองส่งน้ำสายใหญ่และคลองสาขา ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2562 เพื่อเตรียมการส่งน้ำเข้าสู่ระบบกระจายน้ำให้เกษตรกรสามารถเริ่มทำการเพาะปลูกได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 เป็นต้นไป
“จากการปรับเปลี่ยนห้วงเวลาการเพาะปลูกข้าวในสองพื้นที่ดังกล่าว ทำให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทันก่อนฤดูน้ำหลาก ส่งผลให้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมกับสามารถทำการประมงในช่วงฤดูน้ำหลาก เกิดรายได้เสริม ลดค่าใช้จ่ายและลดความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตร ส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง
นอกจากนี้ ยังช่วยป้องกันและบรรเทาอุทกภัย ช่วยชะลอการระบายน้ำไม่ให้กระทบกับพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ทั้งยังใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำต้นทุนสำหรับการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในพื้นที่โครงการและลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง นับเป็นโครงการที่สร้างคุณูปการอย่างยิ่งแก่พื้นที่ภายใต้โครงการตลอดจนพื้นที่ใกล้เคียง”ดร.ทองเปลวกล่าว

สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกนั้น ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 1 เม.ย.2562 มีปริมาณน้ำต้นทุนในเขตชลประทานประมาณ 386 ล้าน ลบ.ม. นอกเขตชลประทานประมาณ 18 ล้าน ลบ.ม. และสถานการณ์น้ำในแม่น้ำน่านอยู่ในเกณฑ์ปกติ มีการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ เพียงพอต่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตชลประทานตามแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ปี2561/62
ขณะที่สถานการณ์น้ำแม่น้ำยมและลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำน่าน ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นไปตามภาวะปกติของฤดูแล้ง สถานการณ์ยังคงต้องเฝ้าระวัง ด้านผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2561/62 มีการเพาะปลูกข้าวเกินแผนที่วางไว้ 53,743 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 8 โดยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน
ด้านการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก กรมชลประทานได้ร่วมบูรณาการแก้ปัญหาและบรรเทาภัยแล้งร่วมกับคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ภัยแล้งจังหวัดพิษณุโลก และคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ระดับจังหวัด (อพก.) สำรวจและวางแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำต้นทุนและแหล่งน้ำธรรมชาติให้เพียงพอต่อความต้องการ
พร้อมทั้งเฝ้าติดตามสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้เกษตรรับทราบและเข้าใจแนวทางการจัดการความเสี่ยงด้านเกษตรกรรมจากภัยแล้ง และโอกาสที่จะเกิดผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตร ตลอดจนประกาศแจ้งเตือนและขอความร่วมมือจากเกษตรกรงดทำการเพาะปลูกข้าวนาปรังต่อเนื่อง (นารอบที่ 3) ยกเว้นพื้นที่ในเขตชลประทานที่กรมฯประกาศแผนการส่งน้ำฤดูนาปี ตามแผนโครงการบางระกำโมเดล
นอกจากนี้ กรมชลประทานยังได้จัดเตรียม รถขุดจำนวน 2 คัน รถบรรทุกน้ำจำนวน 6 คัน และเครื่องสูบน้ำจำนวน 82 เครื่อง พร้อมเข้าร่วมกับหน่วยงานระดับท้องถิ่น ในการเข้าช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงได้ตลอดเวลา
สำหรับการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรรอบพื้นที่แก้มลิงบึงตะเคร็ง ต.บางระกำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก นั้น กรมฯร่วมกับศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต9 ทำการสูบน้ำจากแก้มลิงบึงตะเคร็ง ลงคลองรอบบึงและคลองเก้ารัง คลองลัดโพธิ์ เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภค และปศุสัตว์ รวมถึงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่เสี่ยงภาวะภัยแล้ง พื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่
อีกทั้งยังทำการส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรรอบบึงและบริเวณพื้นที่การเกษตรใกล้คลองส่งน้ำ ที่เริ่มทำการเพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 62 ตามแบบโครงการบางระกำโมเดล และเพื่อลดระดับน้ำในบึงตะเคร็ง ให้อยู่ในปริมาณตามเกณฑ์ที่กำหนด เป็นการพร่องน้ำเพื่อรองรับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก ป้องกันปัญหาอุทกภัยของพื้นที่การเกษตรโดยรอบอีกทางหนึ่ง