“พาณิชย์” ชี้ราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดไม่ควรเกิน 30 บาท หลังต้นทุนน้ำมันปาล์มดิบลดลง พร้อมสั่งห้าง-ผู้ผลิต-ผู้จำหน่าย เลิกอ้างราคาอ้างอิง 42 บาท ทำโปรโมชั่นลดราคา ฝ่าฝืนคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท ด้านรมช.พาณิชย์นำคณะบิน “ฮ่องกง-สิงคโปร์” เจาะตลาดข้าวกลุ่มคนรักสุขภาพ
เมื่อวันที่ 11 มี.ค. นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯได้ทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และห้างสรรพสินค้า ให้จำหน่ายน้ำมันปาล์มบรรจุขวดในราคาที่สอดคล้องกับต้นทุนน้ำมันปาล์มดิบ ทั้งนี้ หากพิจารณาจากราคาน้ำมันปาล์มดิบในปัจจุบันซึ่งมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ลิตรละ 16 บาทแล้ว ราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวด 1 ลิตร ไม่ควรจะมีราคาเกินขวด 30 บาท
พร้อมกันนั้น กรมฯได้ยกเลิกการอ้างอิงราคาจำหน่ายน้ำมันปาล์มบรรจุขวด 1 ลิตร ไม่เกิน 42 บาท หลังจากพบว่าห้างและร้านค้าหลายแห่ง ทำโปรโมชั่นลดราคาน้ำมันปาล์มขวด โดยอ้างว่าลดจากราคาอ้างอิง 42 บาท ซึ่งเป็นการเอาเปรียบและหลอกลวงผู้บริโภค และหากผู้บริโภคพบว่าผู้ประกอบการรายใดยังอ้างอิงเพดานน้ำมันปาล์มบรรจุขวดที่ 42 บาทอีก ให้แจ้งมาที่กรมฯ เพื่อดำเนินการลงโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม กรมฯได้มีการจัดทำโครงสร้างการคำนวณราคาประมาณการ ตั้งแต่ผลปาล์มน้ำมัน น้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันปาล์มบรรจุขวด 1 ลิตร ซึ่งจะประกาศทุกๆ 1 เดือนหรือตามสถานการณ์ต้นทุนของวัตถุดิบ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์คำนวณว่าราคาจำหน่ายน้ำมันปาล์มบรรจุขวดที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงว่าควรจะเป็นเท่าใด โดยจะไม่มีการกำหนดเพดานราคาขายปลีกแนะนำน้ำมันปาล์มอีก จนกว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลง
นายวิชัย กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค.เป็นต้นไป ผู้ขายน้ำมันปาล์มดิบ 31 ราย ภายใต้โครงการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ 1.6 แสนตัน เพื่อนำมาผลิตไฟฟ้า จะต้องรับซื้อผลผลิตปาล์มจากเกษตรกรในราคากิโลกรัมละ 3-3.25 บาท และรับซื้อเป็นเวลา 60 วัน ซึ่งโครงการดังกล่าวจะดูดซับผลปาล์มสดคิดเป็นปริมาณ 8.8 แสนตัน และจะทำให้ราคาผลปาล์มสดปรับเพิ่มขึ้นจาก 2.7-2.8 บาทในขณะนี้ เป็นไปตามราคาเป้าหมายที่กิโลกรัมละ 3-3.25 บาทได้
นอกจากนี้ หากกระทรวงพลังงานเร่งรัดให้มีการใช้น้ำมันไบโอดีเซลบี 20 ในรถบรรทุกและรถเมล์ ขสมก. เพิ่มขึ้น จะทำให้สต็อกน้ำมันปาล์มดิบลดลง และราคาผลปาล์มสดจะมีราคาดีขึ้น
ด้า่นน.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ในระหว่างวันที่ 17-22 มี.ค.นี้ ตนและกรมการค้าต่างประเทศ จะนำผู้ประกอบการข้าวไทย อาทิ กลุ่มสหกรณ์/วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นวัตกรรมข้าวไทย ไปจับคู่ธุรกิจกับผู้นำเข้าที่มีศักยภาพของสิงคโปร์และฮ่องกง เพื่อสร้างโอกาสในการขยายช่องทางการค้าข้าวไทย และผลิตภัณฑ์นวัตกรรมข้าวไทยเข้าสู่ตลาดดังกล่าวได้โดยตรง
ทั้งนี้ สิงคโปร์และฮ่องกงเป็นตลาดนำเข้าข้าวที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง โดยข้าวไทยสามารถครองตลาดเป็นอันดับ 1 ทั้งในตลาดสิงคโปร์และฮ่องกง ขณะที่ปัจจุบันผู้บริโภคของทั้ง 2 ประเทศให้ความสำคัญต่อการรักษาสุขภาพมากขึ้น ทำให้ข้าวไทยเป็นทางเลือกและตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้รักสุขภาพ เนื่องจากข้าวไทยมีหลากหลายพันธุ์ที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง เช่น ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ และล่าสุดยังมีข้าว กข 43
“ในปี 2562 ไทยส่งออกข้าวไปฮ่องกง 1.8 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 6,272 ล้านบาท ซึ่งแม้ว่าปริมาณส่งออกจะลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน 15.74% แต่มูลค่าเพิ่มขึ้น 16.67% ส่วนการส่งออกข้าวไปสิงคโปร์ปีที่แล้ว มีปริมาณ 1 แสนล้านตัน มูลค่า 3,290 ล้านบาท ปริมาณลดลงจากปีก่อน 15.40% แต่มูลค่าเพิ่มขึ้น 6.82% ซึ่งคาดว่าการจัดกิจกรรมในครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นยอดขายข้าวไทยและผลิตภัณฑ์นวัตกรรมข้าวไทยเป็นอย่างดี”น.ส.ชุติมากล่าว
น.ส.ชุติมา ยังกล่าวว่า เมื่อวันที่ 4-9 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้นำคณะเดินทางเยือนสหรัฐ และเข้าร่วมงาน “Natural Product Expo West 2019” เพื่อสร้างเครือข่ายทางการค้าและขยายโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ไปยังสหรัฐ โดยสินค้าไทยที่มีความโดดเด่นและมีศักยภาพ คือ ข้าวหอมมะลิออร์แกนิคคุณภาพสูง และคาดว่ายอดสั่งซื้อสินค้าออร์แกนิคไทยกว่า 145 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อปี 2561 สหรัฐนำเข้าสินค้าธรรมชาติและอินทรีย์ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
น.ส.ชุติมา กล่าวว่า ปีนี้กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าส่งออกข้าวไม่น้อยกว่า 10 ล้านตัน เทียบกับปี 2561 ที่ไทยส่งออกข้าวได้ 11.13 ล้านตัน