รายงานพิเศษ : เปิดรอยร้าว “พลังประชารัฐ” เส้นแบ่งชนชั้น “สามมิตร” ในมือ “ประยุทธ์”
“เหมือนรบจนชนะ แต่ถูกแม่ทัพนำศัตรูที่รบชนะ มาตัดหัวพวกตัวเอง”
ซุ่มเสียงจาก “อนุชา นาคาศัย” ส.ส.ชัยนาท ในฐานะประธานยุทธศาสตร์ภาคกลาง พรรคพลังประชารัฐ แกนนำคนสำคัญกลุ่ม “สามมิตร” ประกาศออกมาทวงโควตารัฐมนตรี จากสัดส่วนเก้าอี้ รมช.คลัง ที่เคยมีชื่อ “อนุชา” ต้องกระเด็นหลุดออกไป พร้อมกับกระแสข่าวสลับตำแหน่ง “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” พ้นจาก รมว.พลังงาน แต่กลับมีชื่อ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” เลขาธิการพรรคเข้ามาเสียบแทน
กลายเป็นอีกหนึ่งชนวนรอยร้าวภายใน “พลังประชารัฐ” ที่เด่นชัดอีกครั้ง เป็นแรงกระเพื่อมลูกใหญ่ต่อความ “ไม่พอใจ” การถูกจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรี ผ่านการเคลื่อนไหวกดดันจาก ส.ส.หลายมุ้งภายในพรรค ที่ส่งสัญญาณไปถึงกลุ่มอำนาจอื่นโดยเฉพาะการปรากฎชื่ออดีตแกนนำกปปส. ตั้งแต่ “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ-พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” จากการถือ ส.ส.เพียง 11 คน แต่กลับได้เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการไปถึง 2 ตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็น รมว.ศึกษาธิการ หรือรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ถึงแม้เสียงจาก “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จะทุบโต๊ะมาจากระหว่างประชุม G20 ที่ประเทศญี่ปุ่น สั่งให้ ส.ส.ในพลังประชารัฐหยุดกดดัน แต่กลับไม่ได้ทำให้ “คลื่นใต้น้ำ” หยุดการเคลื่อนไหว จากกความไม่พอใจขั้นรุนแรงที่ถูกสะสมตั้งแต่การปล่อยโควตากระทรวงสำคัญให้กับพรรคร่วมรัฐบาล ตอกย้ำว่าความเป็นเอกภาพ “พลังประชารัฐ” กำลังถูกท้าทายอย่างหนัก จึงได้เห็นภาพส.ส.หลายกลุ่มออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวรายวัน กดดันผู้มีอำนาจในพรรค “ตัวจริง”
อย่าลืมว่าเอกภาพที่แตกแยกร้าวลึกครั้งนี้เป็นผลจากการรวบรวมอดีต ส.ส. นักการเมือง และผู้กว้างขวางในหลายพื้นที่มารวมอยู่ในที่พลังประชารัฐด้วย “ออฟชั่นพิเศษ” ทำให้วิธีคิดของส.ส.แต่ละก๊วนไม่ได้มีรากฐานอุดมการณ์การเมืองแบบเดียวกันทั้งหมด จนสุดท้ายมาจบด้วยปัญหารอยร้าวบน “เกมต่อรอง” ในการฟอร์มครม.ครั้งนี้

ชัดเจนว่าจำนวน ส.ส.ในมือ ส.ส.แต่ละกลุ่มไม่ได้การันตีจะได้เก้าอี้รัฐมนตรีตามจำนวนส.ส.ไปด้วย เห็นได้จากชื่อบุคคลที่ใกล้ชิด “หัวหน้า คสช.” ในฐานะเคยเป็นรัฐมนตรีจากรัฐบาลชุดก่อน กลับมามีชื่อใน ครม.ชุดใหม่อย่างเหนียวแน่น ตั้งแต่ชื่อสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ สุวิทย์ เมษินทรีย์ กอบศักดิ์ ภูตระกูล กลับมีภาษีมากกว่า กลุ่ม กปปส. กลุ่มด้ามขวานไทย กลุ่มอีสานตอนบน กลุ่มตระกูลอัศวเหม กลุ่มชลบุรี หรือกระทั่งกลุ่มสามมิตร กลายเป็นความไว้ใจที่ถูกมองว่า “ประยุทธ์” ได้เลือกข้างแบ่งชนชั้นคนในพรรคไปแล้ว
แต่หากมองไปที่ความมั่นใจของ “ประยุทธ์” ต่อการคุมขุมอำนาจในพลังประชารัฐ เพื่อสยบแรง “กดดัน” ที่ถูกส่งขึ้นมาทั้งหมด ไม่ได้เกิดจากการยืนระยะในเก้าอี้นายกฯ มา 5 ปี แต่เกิดจากการคุมกระดานแผงอำนาจทั้งฝั่งทหาร และเสียง 250 ส.ว.ทั้งหมดที่อยู่ในมือ ที่มีอำนาจเหนือกว่าการเคลื่อนไหวจากคนในพรรค

ขณะที่ฝั่ง ส.ส.ที่เกิดจาก “คอนเนคชั่น” เฉพาะกิจถึงนาทีนี้ยังมองว่า หากไม่มีการเดินสายรวบรวมนักการเมืองในวันนั้น อาจไม่มีพลังประชารัฐมาถึงวันนี้ การที่ “ประยุทธ์” เล่นบททุบโต๊ะมากกว่าการเห็นใจคนในพรรคเดียวกัน สุดท้ายอาจสั่นคลอนไปถึงเสถียรภาพภายในพรรคเกิดสภาพความ “ไม่ไว้ใจ” ด้วยฉากหน้าเปื้อนรอยยิ้ม แต่ลับหลังพร้อมทิ่มแทงได้ทุกครั้งที่มีสัญญาณปรับ ครม.
โดยเฉพาะการออกมาของ 30 ส.ส.กลุ่ม “สามมิตร” แถลงข่าวกดดันให้นายกฯ ครั้งใหญ่ ต้องคืนเก้าอี้รัฐมนตรีตามโผที่เคยให้ “สัญญาใจ” เมื่อ 11 มิ.ย. พุ่งเป้าไปที่ “รมช.คลัง-รมว.พลังงาน” หากที่สุดแล้วเมื่อรายชื่อ ครม.ประกาศอย่างเป็นการ ไม่เป็นไปตาม “เงื่อนไข” ที่ประกาศไว้ กลุ่ม 30 ส.ส.สามมิตรที่เชื่อว่าตัวเองถือไพ่เหนือกว่าก็พร้อมทบทวนท่าที

ทำให้สถานการณ์หน้างานในสภาต่อการยกมือผ่านกฎหมายสำคัญ จากสภาพเสียงปริ่มน้ำของส.ส.ฝ่ายรัฐบาล อาจได้เห็นกลุ่ม ส.ส.ที่อกหักจากเก้าอี้รัฐมนตรี เล่นบทยกมือ “โหวตสวน” มติพรรคได้ตลอดเวลา
จากที่เคยมีคำพูดว่า “การเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร” แต่อาจได้เห็นวลีใหม่ในกระดานหมากนี้ว่า “ศัตรูที่ถาวรอาจไม่มีมิตรแท้” ได้เช่นกัน