ประชันนโยบายเศรษฐกิจ 7 พรรคการเมือง มุ่ง “ลดเหลื่อมล้ำ-สร้างเศรษฐกิจเติบโตสมดุล” พปชร. ลุยสวัสดิการประชารัฐ 3 ด้าน สร้างโอกาสให้คนไทย ขณะที่“กิตติรัตน์” อวดไอเดีย ปลูกไม้มีค่า 2 พันล้านต้น สร้างเงินออม 70 ล้านล้าน “กรณ์” โวหากปชป.เป็นรัฐบาล ดัชนีตลาดหุ้น 2,500 จุด
เมื่อวันที่ 25 ม.ค. สภาธุรกิจตลาดทุนไทย จัดสัมมนาเรื่อง “นโยบายเศรษฐกิจและตลาดทุนภายใต้รัฐบาลหลังเลือกตั้ง โดยเชิญตัวแทนพรรคการเมือง 7 พรรคเข้าร่วมการสัมมนา ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติพัฒนา พรรคไทยรักษาชาติ และพรรคชาติไทยพัฒนา
นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า นโยบายของ พปชร.จะมุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืนและเกิดประโยชน์กับคนไทยอย่างทั่วถึง ในขณะที่แต่ละนโยบายจะมีลักษณะเชื่อมโยงหรือยึดโยงซึ่งกันและกัน โดยมีพันธกิจที่สำคัญ 3 เรื่อง คือ 1.สวัสดิการประชารัฐ ซึ่งไม่ใช่การแจกเงิน แต่เป็นการสร้างโอกาสให้คนไทยทุกคนได้มีสิ่งที่ควรจะมี พร้อมทั้งจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำใน 3 ด้าน คือ ด้านรายได้ ด้านการศึกษา และด้านสาธารณสุข
“สวัสดิการประชารัฐ ไม่ใช่การแจก แต่สร้างโอกาสในสิ่งที่ควรจะมี ทั้งนี้ การที่ไทยติดกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เป็นเพียงอาการ แต่ไม่ใช่สาเหตุ โดยสาเหตุที่ทำให้เราติดปัญหานี้ คือ ความเหลื่อมล้ำ และการขาดโอกาสที่เท่าเทียม ดังนั้น เราจะเริ่มที่การสร้างสวัสดิการที่จำเป็นก่อน เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิต คนไทยทุกคนต้องมีสวัสดิการ ซึ่งไม่ใช่แค่ความมั่นคงของรายได้ แต่ยังรวมถึงสิทธิในที่ดินทำกิน การศึกษาและสาธารณสุข”นายอุตตมระบุ
2.เศรษฐกิจประชารัฐ คือ การสร้างความสามารถที่จะทำให้ประเทศก้าวไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและสมดุล โดยเฉพาะการทำให้คนไทยเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างกว้างขวาง และการกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่นทั่วประเทศ ซึ่งไม่ใช่เรื่องของการกระจายอำนาจ แต่เป็นเรื่องของการสร้างศูนย์กลางความเจริญในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ พร้อมทั้งนำเศรษฐกิจเข้าสู่ชุมชน ผ่านการสร้างศูนย์กลางความเจริญกระจายไปตาม 30 เมืองทั่วประเทศ
ขณะเดียวกัน การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวยังคงเป็นหัวใจของเศรษฐกิจประชารัฐ เพราะเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนและเข้มแข็งจะต้องมาจากฐานรากที่เข้มแข็ง คือ ต้องมาจากชุมชน เช่นเดียวกับการพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและเล็กให้แข็งแรงจะสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ส่วนการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่างๆ เช่น เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ (เอสอีซี) จะต้องเดินหน้าต่อไป
“การท่องเที่ยวเป็นหัวใจเศรษฐกิจ แต่เศรษฐกิจที่จะโตได้อย่างยั่งยืนนั้น ต้องมาจากฐานรากต้องเข้มแข็ง และต้องมาจากชุมชน ส่วนการพัฒนาธุรกิจรายกลาง รายเล็ก และเอสเอ็มอี ผมคิดว่าตลาดทุนน่าจะเข้ามามีส่วนร่วมตรงนี้ได้ เช่น หากมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในวิสาหกิจชุมชน สตาร์ทอัพ รวมทั้งมีการนำที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) เพียงเสี้ยวเดียวที่ตลาดทุนมีอยู่ เข้ามาช่วยเหลือธุรกิจรายกลาง รายเล็กๆ ธุรกิจเหล่านี้จะเติบโตได้อีกมาก”นายอุตตมกล่าว
และ3.สังคมประชารัฐ คือ การสร้างคนไทยให้พร้อมสำหรับศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะต้องมุ่งสร้างชุดทักษะการเรียนรู้ของคนไทยในยุคต่อไป ยกตัวอย่างเช่น การปลูกฝังความรู้เกี่ยวกับตลาดทุนตั้งแต่ในชั้นเรียนประถม การให้ความรู้เกี่ยวกับหนี้สินนอกระบบ แชร์เถื่อน และแนวทางการลงทุนว่ามีหนทางอย่างไรบ้าง เป็นต้น
นายอุตตม ย้ำว่า วันนี้ประเทศไทยอยู่ในจุดที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยี ซึ่งนโยบายของ พปชร.เลือกที่จะสร้างเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน มีการกระจายตัวอย่างทั่วถึง และเป็นเศรษฐกิจที่ยึดโยงกับสังคม รวมทั้งใช้กลไกเศรษฐกิจดูแลให้คนไทยมีสวัสดิการอย่างทั่วถึง ซึ่งตลาดทุนสามารถเข้ามาช่วยได้ เพราะตลาดทุนเป็นที่รวมของคลังสมองของประเทศ ความสร้างสรรค์อยู่ที่นี่ และเราอยากให้ปลอดปล่อยตรงนี้
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า นโยบายของพรรคเพื่อไทยเน้นเรื่องการสร้างสมดุล และดำเนินนโยบายภายใต้หลักคิด คือ “เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และขยายโอกาส” ในขณะที่การผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตดี มีการกระจายตัว และมีเสถียรภาพนั้น จะต้องให้ความสำคัญ 4 เรื่อง และถ้าเปรียบเศรษฐกิจเป็นรถยนต์ ล้อทั้ง 4 ล้อของรถยนต์ต้องเข้มแข็ง เพื่อที่รถยนต์จะสามารถฝ่าฟันอุปสรรคที่อยู่ข้างหน้าได้
สำหรับล้อที่ 1 คือ การส่งออก-ท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการหารายได้เงินต่างประเทศ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ทางตรงเข้าประเทศ 15% ของจีดีพี แต่หากนับรวมรายได้ทางอ้อมด้วยจะติดเป็น 22-23% ของจีดีพี ทั้งนี้ นโยบายของพรรคจะให้ความสำคัญในการปรับปรุงและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ โดยเฉพาะการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทั้งระดับภาคและระดับท้องถิ่น โดยให้ท้องถิ่นและภูมิภาคทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ตรงนี้จะทำให้ล้ออันแรกทำงานได้
ล้อที่ 2 คือ ลงทุนเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย จะสร้างความมั่นใจและทำให้ประเทศไทยสามารถเจรจากับประเทศต่างๆ เพื่อลดอุปสรรคการค้าระหว่างกันได้ รวมถึงการเดินหน้าเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) และเมื่อผู้ประกอบการขายสินค้าได้ก็จะลงทุนเพิ่มตามมาเอง ส่วนนโยบายส่งเสริมการลงทุนจะไม่เน้นที่ยอดลงทุน แต่ต้องเน้นที่อุตสาหกรรมใช้วัตถุดิบที่ผลิตในประเทศ ส่วนพวกที่จ้างงานน้อย ทิ้งมลภาวะ ต้องไม่ส่งเสริมเลย
ล้อที่ 3 คือ การจับจ่ายใช้สอย และอุปโภคบริโภค หากทุกคนมีความจริงใจที่จะลดปัญหาความเหลื่อมล้ำแล้ว เราจะต้องหยุดภูมิใจกับการเป็นประเทศที่มีค่าจ้างถูก เพราะการมีค่าจ้างถูกจะทำให้คนไทยไม่เป็นผู้บริโภคที่มีคุณภาพ
“เราจะต้องผลักดันให้ลูกจ้างมีรายได้สูงขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการเองจะต้องไม่กลัวค่าแรงแพง แต่ต้องคิดว่าทำอย่างไรที่จะทำให้การจ่ายค่าแรงที่แพงนั้นเกิดความคุ้มค่า ส่วนสินค้าเกษตรไม่ว่าจะเป็นข้าว อ้อม มัน และยาง จะต้องมีราคาดี เพราะหากราคาไม่ดี เศรษฐกิจจะไปไม่ได้เหมือนในช่วงที่ผ่านมา ที่เศรษฐกิจไม่สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้” นายกิตติรัตน์กล่าว
และสุดท้ายล้อที่ 4 ใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาล และการใช้จ่ายรัฐวิสาหกิจ จะต้องเน้นการลงทุนที่คุ้มค่าและสร้างความสมดุล
นายกิตติรัตน์ ยังกล่าวว่า ในช่วงที่ทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีและรับผิดชอบงานในช่วงปี 2554-2557 หากเกิดความสับสนในการทำงาน สิ่งที่ตนเองมักคิดอยู่เสมอ คือ การสร้างความสมดุล 3 ด้าน คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ และการมีเสถียรภาพ หากยึดด้านในด้านหนึ่งมากเกินไปจะทำให้เสียสมดุล
“เราเคยเป็นผู้นำด้านระบบรางในภูมิภาค แต่ต่อมาเรากลับไปลงทุนสร้างถนนจริงจัง ทำให้ระบบรางหายไป ส่งผลให้ประเทศไทยเสียสมดุลในภาคขนส่ง ต้นทุนแพง และเกิดมลภาวะ”นายกิตติรัตน์กล่าว
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล ตนเองจะผลักดันโครงการปลูกไม้มีค่า 2,000 ล้านต้น ซึ่งเงินที่ลงทุนไป 10 บาท/ต้น จะเพิ่มเป็น 70 ล้านล้านบาทในปีอีก 40 ปีข้างหน้า แต่ก่อนที่จะถึง 40 ปีนั้น จะผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในไม้มีค่าเหล่านี้ และเปิดทางให้มีการเปลี่ยนมือได้ เมื่อผ่านไป 40 ปีก็ทยอยตัดไม้ปีละ 3-4 ล้านต้น ก็จะได้เงินมาปีละ 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งเงินเหล่านี้จะเป็นเงินออมสำหรับผู้สูงอายุ และสนับสนุนด้านการศึกษา
“คนไทยออมน้อย และระดับชาติก็ไม่มีการออม ผมจึงมาชวนคิดว่า ถ้าเราปลูกไม้มีค่า ลงทุนต้นละ 10 บาท แล้วมูลค่าจะเพิ่มเป็น 35,000 บาท ในอีก 40 ปี ซึ่งโตเร็วกว่าดอกเบี้ยอีก หากเราปลูก 2,000 ล้านต้น อีก 40 ปี ประเทศจะมีเงินออม 70 ล้านล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวมเงินเฟ้อ แต่ถ้าผ่านไป 10 ปี แล้วรอไม่ไหวก็ขายให้กับกองทุน เมื่อครบอายุก็ทยอยตัด 3-4 ล้านต้นต่อปี ก็ได้เงินปีละ 1.5 ล้านล้านบาท ถ้าผมอยู่ในรัฐบาล ผมจะทำให้เกิดขึ้นจริง”นายกิตติรัตน์ระบุ
นายกรณ์ จาติกวณิช ประธานกรรมการคณะนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า นโยบายพรรคปชป. จะเน้นพันธกิจ 3 เรื่อง คือ “แก้จน สร้างคน และสร้างชาติ” ซึ่งเป็น 3 เรื่องนี้ต้องทำควบคู่กัน ขณะที่นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลราคาสินค้าเกษตรจะเป็นนโยบายประกันรายได้ แต่รอบนี้นอกจากสินค้าข้าวแล้วจะขยายไปยังพืชอื่นๆด้วย เช่น ยาง และปาล์มน้ำมัน ส่วนนโยบายจัดสรรปัจจัยการผลิต จะเน้นเรื่องโฉนดชุมชนหรือโฉนดสีฟ้า รวมทั้งจัดหาแหล่งน้ำ
“ถ้าจะทำให้เศรษฐกิจดีและตลาดทุนดี พรรคเสนอวิธีการประกันรายได้สินค้าเกษตร แต่เที่ยวนี้เราจะประกันรายได้ให้ชวนยางและชาวสวนปาล์ม รวมทั้งจะประกันรายได้ให้กับแรงงานที่ 120,000 บาท/ปี ซึ่งแรงงานไม่ควรมีรายได้ต่ำกว่านี้ ถ้าต่ำกว่านี้รัฐบาลจะจ่ายส่วนต่างให้ ส่วนการจัดสรรปัจจัยผลิตที่สำคัญ เช่น การจัดสรรดินทำกินผ่านโฉลดสีฟ้าและโฉนดชุมชน รวมทั้งลงทุนพัฒนาแหล่งน้ำผ่านกองทุนน้ำ นี่คือตัวอย่างของการแก้จน”นายกรณ์กล่าว
ในส่วนของการสร้างคนนั้น นโยบายสำคัญของพรรค จะเน้นการพัฒนาด้านการศึกษา การเพิ่มทักษะเด็กไทย โดยจะทำให้เด็กไทยพูดภาษาอังกฤษได้ และมีโครงการเกิดปั๊บรับเงิน 1 แสนบาท รวมทั้งจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพ เพราะพัฒนาการในวัยเด็กเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ส่วนนโยบายการแก้ปัญหายาเสพติดถือว่ามีความสำคัญเช่นกัน เพราะทุกวันนี้ปัญหานี้รุนแรงมาก จึงต้องมีการปรับบทบาทเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ให้ปปส.มีหน้าที่สอบสวนและสั่งฟ้องได้ เป็นต้น
“เมื่อสร้างคนแล้ว ก็ต้องสร้างชาติ คือ การกระจายอำนาจออกไป ซึ่งก็คือให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ การกระจายอำนาจของกระทรวงศึกษาออกไปสู่โรงเรียน ทำให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคลที่รับงบประมาณได้โดยตรง และกระจายความเจริญออกจากรุงเทพ รวมทั้งเปิดให้ประชาชนเข้าถึงบริการต่างๆของรัฐผ่านแอพพลิเคชั่น เป็นต้น”นายกรณ์กล่าว
นายกรณ์ ยังบอกว่า สิ่งที่อยากเห็นในอีก 4 ปีข้างหน้า คือ ดัชนีตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 2,500 จุด ซึ่งเป็นตัวที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จเศรษฐกิจไทย ขณะที่บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นจะต้องมีรายได้จากต่างประเทศเกิน 50% มีบริษัทเทคโนโลยีเข้ามาจดทะเบียนเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีสัดส่วนเพียง 7% บริษัทที่มีขนาดใหญ่จะต้องบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขัน ไม่ใช่บริษัทที่ผูกขาดสัมปทาน หรือเป็นรัฐวิสาหกิจ และสุดท้ายมีตลาดซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) กล่าวว่า ชพน. มีนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจทั้งเศรษฐกิจภาพรวมและเศรษฐกิจรากหญ้า โดยเฉพาะในส่วนของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจรากหญ้านั้น จะเน้น 2 เรื่อง คือ 1.นโยบายยกระดับราคาสินค้าเกษตร เช่น การสร้างกลไกในการกำหนดราคาสินค้าเกษตรเช่นเดียวกับการกำหนดราคาน้ำมันของกลุ่มโอเปก การจัดโซนนิ่ง และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรผ่านการแปรรูป เป็นต้น
และ2.นโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยว นอกจากส่งเสริมการท่องเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่มีอยู่เดิมแล้ว จะต้องมีการสร้างแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นแมนเมด (แหล่งท่องเที่ยวที่คนสร้างขึ้น) เพื่อลดการกระจุกตัวของการท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันกระจุกตัวอยู่ใน 4-5 เมืองเท่านั้น คือ กรุงเทพ ภูเก็ต เชียงใหม่ และหาดใหญ่ เป็นต้น รวมถึงลงทุนโครงสร้างด้านการท่องเที่ยวต่างๆ เช่น การสร้างท่าเรือยอร์ชบริเวณชายฝั่งอ่าวไทย จากปัจจุบันที่มีท่าเรือยอร์ชเฉพาะที่ภูเก็ตเท่านั้น
นอกจากนี้ นโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญของพรรคอีกนโยบายหนึ่ง คือ การทำให้ภาคอีสานหลุดพ้นจากความยากจน โดยจะสร้างประตูให้กับภาคอีสาน เช่น การสร้างมอเตอร์เวย์ตัดลงมายังอ่าวไทย เป็นต้น
“ตอนนี้เศรษฐกิจเราโต 4% แต่รากหญ้าไม่โตเท่าข้างบน และการที่ทำให้เศรษฐกิจรากหญ้าโตได้จะต้องเน้นใน 3 เรื่อง คือ การเกษตร การท่องเที่ยว และการพัฒนาเอสเอ็มอี”นายสุวัจน์กล่าว
นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า นโยบายของพรรค คือ มุ่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่ว่าเวลาคนรวยตายเรียกว่าสิ้นบุญ แต่เวลากรรมกรตายเรียกว่าหมดเวร ดังนั้น นโยบายของภท. จึงมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาปากท้อง และลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ ขณะเดียวกัน พรรคได้เปลี่ยนสโลแกนการหาเสียงของพรรคเป็น “ลดอำนาจรัฐ เพื่อปากท้องประชาชน” จากเดิมที่ใช้สโลแกนว่า “ลดอำนาจ เพิ่มอำนาจประชาชน” ซึ่งมีลักษณะเผชิญหน้า
“นโยบายเราไม่พูดเกี่ยวกับการเมือง เรามุ่งปากท้อง ซึ่งเดิมเราใช้นโยบายหาเสียงว่า “ลดอำนาจ เพิ่มอำนาจประชาชน” ซึ่งมันมีลักษณะเผชิญหน้า ดังนั้น จากนั้นเราเปลี่ยนเป็น “ลดอำนาจรัฐ เพื่อปากท้องประชาชน” เพราะปากท้องเป็นเรื่องของทุกคน และตอนนี้เรื่องการซื้ออาวุธพอก่อนได้ไหม เพราะพี่น้องประชาชนต้องการเดินทางสัญจรไปมาด้วยความสะดวก และจากนี้ไปต้องเป็น Thailand First และเมดอินไทยแลนด์”นายอนุทินกล่าว
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กล่าวว่า นโยบายของพรรค คือ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส และเพิ่มเทคโนโลยี ซึ่งเป็นแนวเดียวกับพรรคเพื่อไทย แต่เราได้เพิ่มเรื่องเทคโนโลยีเข้าไป เพราะเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ต้องมีการคิดเตรียมการรับมือกันล่วงหน้า นอกจากนี้ พรรคมีนโยบายที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน แต่ต้องทำให้ประเทศเพื่อนบ้านเติบโตไปกับไทยด้วย
“ไม่เพียงเศรษฐกิจจะเติบโตต่ำมาหลายปีแล้ว และเติบโตในลักษณะกระจุกจนกระจาย สิ่งที่ต้องเตรียมรับมือ คือ การตกงานจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เช่น AI ซึ่งต้องคิดล่วงหน้า หรือแม้กระทั่งการเข้าสู่สังคมสูงอายุ เป็นไปได้ไหมที่เราจะเว้นภาษีให้กับคนสูงอายุ”นายพิชัยกล่าว
นายสัมพันธ์ แป้นพัฒน์ รองหัวหน้าพรรคพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า นโยบายของพรรคมีทั้งนโยบายภาพใหญ่และภาพเล็ก โดยนโยบายสินค้าเกษตร พรรคไม่มีนโยบายประกันราคาหรือการรับจำนำ เพราะหากต้นทุนสูงกว่าราคาประกัน เกษตรกรก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร ดังนั้น การลดต้นทุนการผลิตจึงมีความสำคัญมากกว่า ขณะที่นโยบายการท่องเที่ยว จะเน้นการเตรียมคนให้พร้อม เนื่องจากการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวนั้น หากคนไม่มีความรู้ การลงทุนก็ไม่คุ้มค่า
“การท่องเที่ยววันนี้มันอุปสรรค เพราะแม้ว่าเราจะมีกระทรวงท่องเที่ยวฯ แต่เราไม่ได้เตรียมคนที่จะไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และถ้าคนไม่มีความรู้ตรงนี้ ไม่ให้คนที่มีความสามารถมาทำ การลงทุนก็สิ้นเปลือง”นายสัมพันธ์กล่าว
นายสัมพันธ์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาความเหลื่อมล้ำจะต้องแก้ที่คน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.เกษตรกร โดยจะต้องทำให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ 2.มนุษย์เงินเดือน แม้ว่าคนกลุ่มนี้จะมีรายได้ แต่ยังไม่เพียงพอ และ3.กลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งการช่วยเหลือจะต้องแบ่งเป็นกลุ่มๆ เช่น กลุ่มผู้สูงอายุที่มีรายได้ และกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้ หากยกระดับคนทั้ง 3 กลุ่มนี้ขึ้นมาได้ เศรษฐกิจในช่วง 3-4 ปีนี้จะดีขึ้นแน่นอน