มารู้จัก! “พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน – ภราดร ปริศนานันทกุล” เป็นที่จับตามอง แคนดิเดต รองประธานสภา โควตา เพื่อไทย – ภูมิใจไทย ในพรรคร่วมรัฐบาล
วันที่ 11 ก.ย. 2567 สำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร กลายเป็นที่จับตามองอยู่ในขณะนี้ ในวาระ การพิจารณาเลือกตำแหน่ง รองประธานสภาคนที่ 1 และ รองประธานสภาคนที่ 2 ภายหลังจากที่มีคำวินิจฉัยให้ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา อดีต สส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล พ้นจากสถานะสมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่งผลให้นายปดิพัทธ์ ต้องพ้นจากตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1
ทั้งนี้ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ที่ยื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอลาออกจากตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 และมีผลทันที

สำหรับตำแหน่ง รองประธานสภาคนที่ 1 ซึ่งถูกปรับเป็นโควตาของ พรรคเพื่อไทย ซึ่งนายดนุพร ปุณณกันต์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เปิดเผยภายหลังที่ประชุม ได้หารือกัน โดยได้ข้อสรุปว่า พรรคเพื่อไทย จะยังคงเสนอชื่อ “นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน” ให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1
ตำแหน่ง รองประธานสภาคนที่ 2 ทาง นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวมาแล้วว่าจะส่งชื่อ “นายภราดร ปริศนานันทกุล” เป็น รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลลำดับที่ 2
ประวัติ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน เกิดวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2506 เป็นบุตรของนายเพชร และนางสมนา เชื้อเมืองพาน มีน้องชาย 1 คน สำเร็จการศึกษา จากเทคโนโลยีการเกษตรบัณฑิต สาขาพืชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจอุตสาหกรรม วิทยาลัยบริหารและจัดการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
สมรสกับนางสาวธัญพิชชา ตรีวิชาพรรณ (หลังสมรสเปลี่ยนชื่อเป็น นางสาวพิชชา เชื้อเมืองพาน) มีบุตร 1 คน นางสาวพิชชา เชื้อเมืองพาน จบการศึกษาปริญญาโท บริหารธุรกิจระหว่างประเทศ MIB ที่ Queensland University of Technology ประเทศออสเตรเลีย ตระกูล ตรีวิชาพรรณ ประกอบกิจการโรงงานผลิตเครื่องประดับทองคำ ค้าเพชรพลอยแท้และเครื่องประดับเงิน ย่านเจริญกรุงกว่า 60 ปี โดยคุณปู่เป็นชาวจีน

พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน เคยดำรงตำแหน่งนายกองค์กรนักศึกษาแม่โจ้ และ เคยดำรงตำแหน่ง นายกองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทยภาคเหนือ และมีบทบาทในการนำผู้ชุมนุมเข้ากรุงเทพ เพื่อออกมาต้าน นาย สนธิ ลิ้มทองกุล
ในการประชุมครั้งแรกของสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้เสนอชื่อพิเชษฐ์ให้เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 โดยไม่มีผู้เสนอชื่ออื่นเพิ่มเติม เขาจึงได้เป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 2 ตามข้อบังคับการประชุมสภา ข้อ 6 วรรค 3
การเมือง
เคยดำรงตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 2 สมัย และเคยเป็นที่ปรึกษา รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่อมา พ.ศ. 2544 ลงสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 77 พรรคไทยรักไทย ไม่ได้รับเลือกตั้งในคราวแรก แต่ต่อมาได้รับเลื่อนขึ้นมาแทนพลเอกเชษฐา ฐานะจาโร ที่ลาออกในปี พ.ศ. 2546 ต่อมาปี พ.ศ. 2550 ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต จังหวัดเชียงราย พรรคพลังประชาชน ได้รับการเลือกตั้ง และปี พ.ศ. 2554 ได้รับเลือกตั้งอีกครั้งในนามพรรคเพื่อไท
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว 5 สมัย คือ
– การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2544 แบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 77 สังกัดพรรคไทยรักไทย (ได้รับเลื่อน พ.ศ. 2546)
– การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 จังหวัดเชียงราย สังกัดพรรคพลังประชาชน
– การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 จังหวัดเชียงราย สังกัดพรรคเพื่อไทย
– การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 จังหวัดเชียงราย สังกัดพรรคเพื่อไทย
– การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 จังหวัดเชียงราย สังกัดพรรคเพื่อไทย
ประวัติ ภราดร ปริศนานันทกุล
นายภราดร ปริศนานันทกุล เกิดเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2522 ที่อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง เป็นบุตรของนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กับนางรวีวรรณ ปริศนานันทกุล (สกุลเดิม: ฉัตรบริรักษ์)
สำเร็จการศึกษาการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ระดับปริญญาตรี สาขาสถิติ จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และระดับปริญญาโททางด้านเศรษฐศาสตร์ จาก Warwick University ประเทศอังกฤษ

การเมือง
นายภราดร ปริศนานันทกุล ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอ่างทอง คู่กับนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล เมื่อ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 และได้รับเลือกตั้งอีกสมัยในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 ซึ่งขณะนั้นลงสมัครรับเลือกตั้งภายใต้สังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา
กระทั่งในปี พ.ศ. 2561 ได้ย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอ่างทองอีกสมัย ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นโฆษกพรรคภูมิใจไทย
จากนั้นในปี พ.ศ. 2566 และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอ่างทองอีกสมัย ภายใต้สังกัดพรรคภูมิใจไทย ก่อนที่จะถูกเสนอชื่อจากที่ประชุมพรรคภูมิใจไทย เป็นแคนดิเดตชิงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ในที่สุด
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
พ.ศ. 2563 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
พ.ศ. 2556 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)