อีก 20 ปีข้างหน้า เอเชีย ต้องการ ‘นักบิน’ ถึง 240,000 คน ลูกเรือกว่า 317,000 คน ตามการเติบโตของเศรษฐกิจ เฉพาะประเทศจีนประเทศเดียวต้องใช้นักบินถึง 128,500 คน
โบอิ้ง ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ประเมินว่า ภายในปี 2037 การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ ทำให้ความต้องการในการเดินทางด้วยเครื่องบินเพิ่มสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้นักบินกว่า 240,000 คน และลูกเรือกว่า 317,000 คน โดยประมาณครึ่งหนึ่งจากจำนวนทั้งหมดเป็นการรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศจีน
โบอิ้ง คาดการณ์ว่า จีน ต้องใช้ นักบิน จำนวน 128,500 คน
ขณะที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องการนักบิน 48,500 คน ใกล้เคียงกับจำนวน 42,750 คน สำหรับเอเชียใต้
จากข้อมูลของบริษัทวิเคราะห์อุตสาหกรรมการบิน Endau Analytics ในสิงคโปร์ ระบุว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนชาวจีน ที่บินไปเที่ยวต่างประเทศ เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว และภายปีที่ผ่านมาชาวจีนมีการจองเที่ยวบินเกือบหนึ่งร้อยล้านที่นั่ง
นอกจากสายการบินของจีนหลายแห่ง จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลแล้ว จีนยังคงเดินหน้าสร้างสนามบินใหม่อย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีสนามบินทั้งหมด 230 แห่ง
จากการการเติบโตของการธุรกิจการบินในอาเซียน ทำให้ โบอิ้ง ต้องนำไปวางแผนการผลิตเครื่องบิน โดยคาดว่า 40% ของเครื่องบินโดยสารที่ผลิตขึ้นใหม่ จะถูกนำไปใช้ในสายการบินในเอเชีย-แปซิฟิก
โดยก่อนหน้านี้ โบอิ้ง ยังระบุว่า ตลาดการบินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอีก 2 ทศวรรษ จะมีอัตราการเติบโตของการสัญจรทางอากาศประมาณ 6.2% สูงกว่าภาพรวมของโลกเฉลี่ย 1.5% ซึ่งยังหมายความถึงความต้องการซื้อเครื่องบินใหม่ประมาณ 4,210 ลำ
นักบิน จำนวนมากจะเกษียณในช่วงทศวรรษหน้า
ขณะที่การเติบโตของธุรกิจการบินชนิดอื่น ๆ เช่น เฮลิคอปเตอร์เพื่อการท่องเที่ยว และ เครื่องบินเจ็ทส่วนตัว ทำให้มีอาชีพนักบินเป็นที่ต้องการมากขึ้นอีก ผลที่ตามมาคือ อัตราค่าจ้างที่สูงขึ้น ส่งผลทำให้กำไรของสายการบินลดลง ยิ่งเป็นแรงกดดันต่ออุตสาหกรรมการบิน
แอร์บัส เคยคาดการณ์ ตลาดภาคบริการทั่วโลกสำหรับเครื่องบินพาณิชย์ว่า จะมีมูลค่า 4.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในระหว่างปี พ.ศ. 2561 ถึง พ.ศ. 2580 โดยมาจาก 3 ส่วน คือ วงจรอายุเครื่องบิน และ การปฏิบัติการสายการบิน รวมถึง ตลาดการบริการ
สถิติสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (ปี 2560) ระบุว่า ประเทศไทย มี นักบิน ทั้งหมด 6,072 คน แบ่งเป็น กัปตัน 2,376 คน ส่วนนักบิน ผู้ช่วยมี 3,600 คน แต่จำนวนเครื่องบินมีทั้งหมด 625 ลำ ขณะที่การผลิตบุคลากรของสถาบันการบินพลเรือน ผลิตได้ประมาณ 100 คนต่อปี หรือรุ่นละ 20 คน เนื่องจากนักบิน เป็นวิชาชีพเฉพาะทาง ต้องใช้เวลาฝึกอบรม เรียนรู้เครื่องบินที่ต้องฝึกบิน และต้องมีใบอนุญาต กว่าจะได้เป็นกัปตันอาจต้องใช้เวลา 5-6 ปี
การขาดแคลนนักบิน ส่งผลให้แต่ละสายการบินเสนอผลตอบแทนให้นักบินเพิ่มขึ้น เฉพาะรายได้ของนักบินพาณิชย์เอก หรือกัปตัน ของไทยจากเดิมเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 300,000 บาทต่อเดือน เพิ่มเป็นประมาณ 380,000 บาทต่อเดือน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับนักบิน
ภาพจาก imcockpit , MichaelGaida
อ่านเพิ่มเติม >>> เปิด “บันทึกไม่ลับคนขับเครื่องบิน”