โควิด19 สำนักข่าวซินหัว เผยงานวิจัยฉบับใหม่ซึ่งได้รับการเผยแพร่ลงในวารสารเนเจอร์ (Nature) ทางออนไลน์ เมื่อวันพฤหัสบดี (9 เม.ย.63) ระบุว่าคณะนักวิจัยจีนได้ศึกษาและระบุโครงสร้างผลึกความละเอียดสูงของเอนไซม์ชนิดโปรตีเอส จากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ซึ่งก่อโรคโควิด-19 และได้ระบุตัวยาที่อาจจะต้านโรคนี้ได้
โดยสถาบันเซี่ยงไฮ้เพื่อการศึกษาอิมมูโนเคมีวิทยาขั้นสูง (SIAIS) สังกัดมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เทค (ShanghaiTech University) และผู้ร่วมงาน ได้ร่วมกันค้นหาตัวยาที่จะใช้ต่อสู้กับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปแล้วกว่า 90,000 ราย และส่งผลให้มีผู้ป่วยกว่า 1.5 ล้านคนทั่วโลก จนถึงวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (9 เม.ย.63)
ทั้งนี้ เอนไซม์ชนิดโปรตีเอส (Main Protease) มีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลางที่เอื้อให้ไวรัสเพิ่มจํานวนและแบ่งตัว ด้วยเหตุนี้เอนไซม์ดังกล่าวจึงเป็นเป้าหมายของยา (drug target) ที่น่าสนใจสำหรับไวรัสสายพันธุ์นี้
ซึ่งคณะวิจัยจีนกลุ่มนี้จึงได้ระบุตัวยับยั้ง (inhibitor) ที่มีชื่อว่าเอ็น3 (N3) ที่มีความสามารถในการยับยั้งแบบผันกลับไม่ได้ (mechanism-based) โดยจะไปทำให้เอนไซม์ไม่สามารถกลับคืนสู่รูปปกติ และสูญเสียคุณสมบัติของเอนไซม์ได้
ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่บรรดานักวิจัยทั่วโลกในการพัฒนายาต้านไวรัสที่มุ่งไปที่ตัวยับยั้งเอ็น3 เป็นครั้งแรก คณะวิจัยจึงเปิดเผยรายการยาที่อยู่ระหว่างการทดลอง และโครงสร้างเอนไซม์โปรตีเอสของไวรัสชนิดนี้แก่สาธารณะ ไปตั้งแต่วันที่ 25-26 ม.ค.63 ตามลำดับ