กรมชลประทาน หลายพื้นที่ในประเทศไทย เริ่มมีแนวโน้มฝนตกดีขึ้น เพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผืนดินและพื้นที่การเกษตรได้บ้างเกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกได้ หากมีมีฝนตกสม่ำเสมอและมีปริมาณน้ำเก็บกักเพียงพอ ทั้งนี้
กรมชลประทาน จะเก็บกักน้ำไว้ในอ่างฯให้มากที่สุด พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ชลประทานทุกโครงการฯ ติดตาม-เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ จัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือให้พร้อมใช้งาน เพื่อช่วยเหลือประชาชนได้ทันที

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทานเป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ VDO Conference ไปยังผู้แทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และสำนักงานชลประทานเครือข่าย SWOC ทั่วประเทศ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำจากพื้นที่ต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 19 – 23 ก.ค. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยในขณะที่มีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยและอ่าวไทยลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งในบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนในช่วงวันที่ 24 – 25 ก.ค. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยเริ่มมีกำลังแรงขึ้นทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่งในบริเวณภาคกลางภาคตะวันออกและภาคใต้
สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(20มิ.ย. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ31,627ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ7,986ล้าน ลบ.ม.สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 44,000 ล้าน ลบ.ม.เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 7,416 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 720 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนทั้งประเทศปัจจุบัน (20มิ.ย.63) มีการใช้น้ำไปแล้ว6,000 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 50ของแผนจัดสรรน้ำฯเฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้ว 2,121 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ65ของแผนจัดสรรน้ำฯที่วางไว้
ส่วนผลการเพาะปลูกข้าวนาปีล่าสุด(ข้อมูล ณ วันที่ 15มิ.ย. 63) ทั้งประเทศมีการทำนาปีไปแล้ว ประมาณ 8.08ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 48ของแผนฯ(แผนวางไว้16.79 ล้านไร่)เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพาะปลูกไปแล้ว 3.01ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 37ของแผนฯ(แผนวางไว้ 8.10 ล้านไร่)
ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาช่วงสิงหาคม – กันยายน ประเทศไทยจะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นแนวโน้มที่ดีที่จะมีปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มมากขึ้น กรมชลประทานจะต้องเก็บกักน้ำในทุกพื้นที่ไว้ให้มากที่สุด เนื่องจากต้องสำรองน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศเป็นหลัก และจัดสรรน้ำช่วยด้านการเกษตรบางส่วนในกรณีฝนน้อยทั้งนี้ ได้กำชับโครงการชลประทานทุกพื้นที่ โดยเฉพาะลุ่มน้ำที่สำคัญอย่างลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้เตรียมความพร้อมอาคารชลประทาน เครื่องจักรเครื่องมือ สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา รวมถึง กำจัดผักวัชพืชและผักตบชวาไม่ให้กีดขวางทางน้ำ พร้อมทำเครื่องมือกั้นลำน้ำพาราล็อคบูมเพื่อหยุดผักตบไม่ให้ไหลไปแพร่พันธุ์ตามแหล่งน้ำอื่นๆเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ