นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ชี้ นโยบายรัฐบาล ลดค่าไฟ อาจเป็นระเบิดเวลา ทำผู้บริโภคอ่วม อนาคตส่อแวว ค่าไฟฟ้า พุ่ง 6 บาทต่อหน่วย
วันที่ 19 กันยายน 2566 นายชาคร เลิศนิทัศน์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวถึงมาตรการลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วยในรอบบิลเดือนกันยายนตามมติ ครม.นัดแรก ตามนโยบายลดราคาพลังงาน ว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการใช้กลไกใดในการลดค่าไฟ ซึ่งมีแนวทางหลายรูปแบบด้วยกัน แต่ที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด คาดว่าจะใช้รูปแบบยืดหนี้หรือภาระต้นทุนจากการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ออกไปก่อน ซึ่งหนี้ดังกล่าวเกิดจากการแบกรับค่า Ft ที่ประกอบด้วยต้นทุนของค่าความพร้อมเดินเครื่องเพื่อจ่ายไฟฟ้า และต้นทุนของเชื้อเพลิงที่มีการเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมกว่า 1.5 แสนล้านบาท

ซึ่ง แนวทางดังกล่าวย่อมสร้างต้นทุนในกับ กฟผ. อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดสภาพคล่องของ กฟผ. และยังกระทบต่อความน่าเชื่อถือในการชำระหนี้ขององค์กรซึ่งเป็นผลให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น โดยภาระดังกล่าวจะส่งผลต่อค่าไฟฟ้าของประชาชนต่อไปในอนาคต นอกจากนั้นเพื่อเป็นการรักษาสภาพคล่องของ กฟผ. ภาครัฐยังคงมีความจำเป็นในการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล และยังส่งผลต่อสถานการณ์หนี้สาธารณะของประเทศในระยะยาว อีกทั้งการขาดสภาพคล่องของ กฟผ. อาจทำให้ไม่สามารถลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ที่จะช่วยรองรับการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้
- เปิด ครม.เศรษฐา นัดแรก แก้ไข 8 ข้อ – ลดค่าไฟ ปรับเงินเดือนข้าราชการ
- ราชกิจจาฯ เผย รายชื่อประเทศเที่ยวไทย แบบ ฟรีวีซ่า ตามนโยบายรัฐบาล
- ด่วน! ครม. เคาะแล้ว ลดค่าไฟ เหลือ 3.99 ต่อหน่วย มีผลเริ่มทันที
นายชาคร กล่าวอีกว่า “มาตรการลดค่าไฟฟ้าจากการปรับโครงสร้างหนี้ โดยปราศจากการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรม เป็นเพียงการพักหนี้ระยะสั้นเท่านั้น โดยหากพ้นระยะของการพักชำระหนี้ ถ้าเกิดมีการเรียกเก็บคืนทันที อาจจะทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นสูงขึ้นมากกว่า 6 บาทกว่าต่อหน่วยเลยทีเดียว และผู้บริโภคจะต้องเจอกับราคาค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นเพื่อชดเชยภาระหนี้ในอดีตอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการพักชำระหนี้ผ่านการตรึงค่า Ft จึงเป็นเหมือนระเบิดเวลาที่รอเวลาเกิดผลกระทบในวงกว้างจากภาระหนี้สินและดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

ทั้งนี้ แนวคิดดังกล่าววสอดรับกับ ดร.สิริภา จุลกาญจน์ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ERI) ที่เห็นว่า หากรัฐจะใช้แนวทางการยืดหนี้ ควรใช้ให้ถูกกลุ่มและมีระยะเวลาการช่วยเหลือที่ชัดเจน เช่น ลดค่าไฟฟ้าให้ครัวเรือนที่มีความจำเป็น หรือครัวเรือนที่มีรายได้น้อยเท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดเป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสจากภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นจากการใช้พลังงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ขณะที่การจัดการกับปัญหาค่าไฟฟ้าราคาแพงในระยะยาว จะต้องให้ความสำคัญกับการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าจากทรัพยากรภายในประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มพลังงานหมุนเวียน เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่มีหลายปัจจัยที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมได้
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่น ๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY