ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ พรรคก้าวไกล อภิปรายเดือด จากนาย เป็น นายกเศรษฐา แค่ ก. ตัวเดียว ทำให้จุดยืนเปลี่ยนไปขนาดนี้!
วานนี้ 12 กันยายน 2566 มีการประชุมสภา โดยในช่วงหนึ่งของการประชุม พริษฐ์ วัชรสินธุ ไอติม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายในการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา โดยเฉพาะต่อนโยบายทางการเมือง และการแก้รัฐธรรมนูญ โดยระบุว่าตลอดเวลา 120 วัน ที่ผ่านมานับตั้งแต่วันเลือกตั้ง ตนเชื่อว่าคำถามหนึ่งในใจของประชาชนหลายคน คือคำถามที่ว่าอำนาจสูงสุดในประเทศนี้เป็นของใคร
ซึ่งจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา ที่นำมาสู่การจัดตั้งรัฐบาลพิเศษครั้งนี้ ตนขอทำนายว่าแม้เราจะมีรัฐบาลใหม่ที่ไม่ได้นำโดยหัวหน้าคณะรัฐประหารแล้ว แต่รัฐบาลใหม่นี้จะยังคงไม่ยอมให้อำนาจสูงสุดในประเทศเป็นของประชาชน
เพราะเมื่อเปิดอ่านคำแถลงนโยบายของรัฐบาลและวิเคราะห์ทั้งคำพูดที่อยู่ในเอกสารและที่ตกหล่นขาดหายไป จะเห็นได้ชัดถึงอาการที่ตนขอเรียกว่า “รัฐที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง” ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ดูแล้วรัฐบาลคงจะไม่ยอมให้ประชาชนทั่วประเทศมีอำนาจขีดเขียนขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ หรือรัฐราชการที่คงไม่ยอมให้เกิดการกระจายอำนาจมาสู่ประชาชนในแต่ละพื้นที่
จุดยืนเรื่องรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนไป?
สำหรับเรื่องรัฐธรรมนูญ พรรคก้าวไกลยืนยันมาตลอดว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มีปัญหาทั้งที่มา กระบวนการ และเนื้อหา ที่ขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย โดยความจริงทุกฝ่ายเคยได้ข้อสรุปร่วมกันมาแล้วว่าประเทศนี้ควรต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ – หากย้อนไปเมื่อเดือน พ.ย. 2563 พวกเราทุกฝ่ายในรัฐสภาแห่งนี้ได้ร่วมกันลงมติกันอย่างท่วมท้น ด้วยคะแนนเห็นชอบถึง 88% ของสมาชิกรัฐสภา เพื่อรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้น เป้าหมายของรัฐบาลนี้ จึงไม่ควรเป็นอะไรที่ซับซ้อนไปกว่าการเดินหน้าสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ที่มีที่มา กระบวนการ และเนื้อหา ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย
แต่หากนำเอานโยบายแก้รัฐธรรมนูญที่นายเศรษฐาและพรรคเพื่อไทยได้เคยหาเสียงไว้ อ้างอิงจากเอกสารที่พรรคเพื่อไทยส่งให้ กกต. ก่อนเลือกตั้ง มาเทียบกับนโยบายแก้รัฐธรรมนูญของรัฐบาล ที่ปรากฎอยู่ทั้งหมด 7 บรรทัด 94 คำ ในเอกสารคำแถลงนโยบาย จะเห็นได้ว่าจุดยืนและนโยบายของนายเศรษฐาและนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ต่างกันราวฟ้ากับเหวในอย่างน้อยใน 4 คำถาม คือ
- 1) รัฐบาลจะสนับสนุนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เพราะเมื่อมาเป็นนายกรัฐมนตรีเศรษฐาแล้ว ท่านบอกแต่เพียงว่าจะ “หารือแนวทาง” ในการจัดทำรัฐธรรมนูญเท่านั้น
- 2) รัฐบาลจะให้ใครจะมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สมัยเป็นนายเศรษฐาท่านยืนยันชัดเจนว่าจะให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมาจัดทำ แต่พอมาช่วงหลังๆ ท่านกลับเริ่มเงียบต่อคำถามที่สังคมมีต่อรูปแบบของ สสร.
- 3) รัฐบาลจะล็อกเนื้อหาอะไรบ้างในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีเงื่อนไขข้อเดียวที่ล็อกไว้ คือรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งแม้ท่านไม่เขียนไว้ ก็จะเป็นเช่นนั้นอยู่แล้วตามมาตรา 255 ของรัฐธรรมนูญ 2560
- 4) รัฐบาลจะเริ่มดำเนินการการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร สมัยเป็นนายเศรษฐา พรรคเพื่อไทยเคยแถลงไว้อย่างชัดเจน ว่าในการประชุม ครม. นัดแรก จะมีการออกมติให้มีการเดินหน้าจัดทำประชามติ เพื่อนับหนึ่งการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันที แต่พอมาเป็นนายกรัฐมนตรีเศรษฐา แม้จะบอกว่าเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่ในเอกสารกลับไม่มีความชัดเจนว่าท่านจะดำเนินการอย่างไร นอกจากข้อความว่าท่านจะ “หารือแนวทางในการทำประชามติ”
“ท่านยืนยันได้ไหมครับ ในการประชุม ครม. นัดแรกที่จะเกิดขึ้นในเช้าวันพรุ่งนี้ พวกท่านจะมีมติออกมาเพื่อให้เดินหน้าในการจัดทำประชามติ และนับหนึ่งสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และท่านยืนยันได้ไหมว่าคำถามที่ท่านจะใช้ในประชามติ จะเป็นคำถามที่ยืนยันหลักการเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน”
ว่าหากกล่าวโดยสรุปเรื่องนโยบายรัฐธรรมนูญ ในขณะที่นโยบายของ นายเศรษฐา ทั้งชัดเจนและตรงจุด แต่นโยบายของนายกรัฐมนตรีเศรษฐากลับหาความชัดเจนไม่ได้แม้แต่เรื่องเดียว แต่ในเมื่อท่านไม่ลุกขึ้นมายืนยันจุดยืนเดิมที่นายเศรษฐาเคยประกาศไว้ ตนก็ขออนุญาตไม่เชื่อว่านายกรัฐมนตรีเศรษฐาจะนำพาเราไปสู่เป้าหมายของการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยได้
ก. เพียงตัวเดียว
ไม่น่าเชื่อว่าการเติม “ก.ไก่” แค่ตัวเดียวจาก “นายเศรษฐา” เป็น “นายกฯเศรษฐา” จะทำให้จุดยืนท่านเปลี่ยนไปได้ขนาดนี้ ซึ่งสำหรับตนแล้ว “ก.” ที่เพิ่มขึ้นมานี้ ย่อมาจากคำว่า “กลัว” และ คำว่า “เกรงใจ” ที่อธิบายถึงความรู้สึกที่ท่านมีต่อพรรคร่วมและเครือข่ายที่ทำให้ท่านได้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ จนไม่กล้าผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนตามที่เคยได้ให้สัจจะไว้
พริษฐ์กล่าวต่อไป ว่าตนยังจำได้ว่านายกรัฐมนตรีเคยให้สัมภาษณ์ว่าท่านต้องการเป็น “นายกรัฐมนตรีแห่งการเปลี่ยนแปลง” แต่จากนโยบายเรื่องรัฐธรรมนูญและการกระจายอำนาจ ตนคิดว่าวันนี้ท่านเป็นได้แค่ “นายกรัฐมนตรีแห่งจุดยืนที่เปลี่ยนแปลงไป” ทั้งจากคำสัญญาว่าจะ “จัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ” ตอนนี้ก็เหลือเพียงแค่การ “หารือแนวทางในการจัดทำรัฐธรรมนูญ” จากคำสัญญว่าจะ “เลือกตั้งผู้ว่าในจังหวัดนำร่อง” ตอนก็นี้เหลือเพียงแค่การ “ฟื้นคืนชีพผู้ว่า CEO”

ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่น ๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY