นฤมล โฆษกรัฐบาล เผย ไทยเสนอ 8 ประเด็นหลักกลางเวทีคณะกรรมการร่วม แม่นํ้าโขง พร้อมผลักดัน สปป.ลาว ยกระดับมาตรการเยียวยาผลกระทบการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง
6 ก.ค. 63 นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” ระบุข้อความว่า ไทยเสนอ 8 ประเด็นหลักในเวทีคณะกรรมการร่วมแม่น้ำโขง หวังผลักดัน สปป.ลาว ยกระดับมาตรการเยียวยาผลกระทบการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงให้กับประเทศท้ายน้ำ
โดยประกอบด้วย 1 การแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงอุทกวิทยา ที่ส่งผลให้เกิดความผันผวนของระดับน้ำต่อประเทศปลายน้ำก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตการประมงการท่องเที่ยวการเกษตรริมตลิ่งภัยแล้งอุทกภัย
2 การลดลงของตะกอนและสารอาหาร ที่อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในระบบนิเวศของแม่น้ำ ซึ่งอาจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร
3 การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ อาทิ ปรากฏการณ์น้ำสีน้ำเงิน–เขียว ที่ต้องเร่งหาข้อเท็จจริงเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาเร่งด่วน
4 การออกแบบทางผ่านปลา เพื่อรองรับการย้ายถิ่นของปลาตามฤดูกาลต้นน้ำและปลายน้ำ ป้องกันภัยคุกคามสำคัญต่อการประมงและความมั่นคงด้านอาหารของภูมิภาค
5 การประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนและผลกระทบสะสมต่อประเทศปลายน้ำ โดยมีการกำหนดมาตรการที่ชัดเจนและแผนการปรับตัวต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
6 การแลกเปลี่ยนข้อมูลและการแบ่งปันข้อมูล เพื่อสร้างการติดตามผลกระทบเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางอุทกวิทยาระหว่างการก่อสร้างและการดำเนินการของเขื่อน รวมถึงระบบการสื่อสาร แผนเตรียมพร้อมฉุกเฉิน (EPP) เพื่อสื่อสารกับประเทศปลายน้ำเพื่อลดผลกระทบข้ามพรมแดนและผลกระทบสะสมอย่างมีประสิทธิภาพ
7 การเยียวยาและบรรเทา โดยเสนอต่อสปป. ลาวและผู้พัฒนา กำหนด มาตรการบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดนในด้านเศรษฐกิจสังคมการดำรงชีวิตและ สภาพแวดล้อมตามมาตรา 7 การป้องกันและการหยุดผลกระทบที่เป็นอันตราย
8 ความรับผิดชอบของรัฐสำหรับความเสียหายของข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อความยั่งยืน การพัฒนาลุ่มน้ำโขง (5 เมษายน 2538) โดยถอดบทเรียนที่ได้รับจากโครงการที่ได้ดำเนินการแล้ว เช่น เขื่อนไซยะบุรี
