เก็บค่ารถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย ตามนโยบายที่หาเสียง ทุกวันนี้ขาดทุนวันละเกือบ 7 ล้านบาท หากเริ่มนโยบายจะขาดทุนหนักขึ้น
จากกรณี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เรื่อง รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ว่า พรรคเพื่อไทย จะทำนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอนภายใน 2 ปี ส่วนกรณีที่ไม่ได้ระบุ นโยบาย รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ดังกล่าว ในคำแถลงนโยบายรัฐบาล ที่จะมีการประกาศในที่ประชุมสภาเร็วๆนี้ ก็เพราะเป็นเพียงนโยบายย่อยในนโยบายใหญ่ ด้านโลจิสติกส์ และ การขนย้ายประชาชน ซึ่งสามารถชี้แจงเพิ่มเติมต่อรัฐสภาได้ ต่อมา เมื่อวันที่ (12 ก.ย. 66) นายสุริยะ ได้กำหนดโครงนโยบายว่า จะเริ่มทดลองนโยบายดังกล่าวโดย เริ่มที่ รถไฟฟ้าสายสีแดง และ สายสีม่วง ก่อน โดยจะมอบให้เป็นของขวัญปีใหม่

ล่าสุด วันที่ 24 กันยายน 2566 ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมากล่าวถึงประเด็นข่าวต้นผ่านช่องทางเพซบุ๊กส่วนตัว เปิดเผย ถึงความขาดทุนรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย ว่า “ก่อนเก็บ 20 บาท ตลอดสายรถไฟฟ้าสายสีแดง+สีม่วง กระอักขาดทุนหนักวันละ 7 ล้าน” รัฐบาลมีนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย โดยจะเปิดให้บริการ 2 สายก่อน คือสายสีแดงและสายสีม่วง มาดูกันว่าในปัจจุบันรถไฟฟ้าทั้งสองสายนี้ขนผู้โดยสารวันละเท่าไหร่ มีรายได้มากน้อยเพียงใด สายสีแดงหรือสายสีม่วงขาดทุนมากกว่า
- ข้าราชการ ยอมรับ เงินเดือนไม่พอใช้ ไม่มีเงินเก็บ แถมยังหนี้สิน พรึบ!
- อาการป่วยทักษิณ เป็นความลับ ใครเผยถือว่าผิด มีโทษทั้งจำทั้งปรับ
- ผู้สูงอายุ ต้องดู 3 ภัยออนไลน์ เพจปลอม หลอกลวงลงทุน เสียหายนับล้าน
1. รถไฟฟ้าสายสีแดง
รถไฟฟ้าสายสีแดงเป็นการลงทุนทั้งหมดโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีเส้นทางจากบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กิโลเมตร และจากบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งหมด 41 กิโลเมตร ค่าโดยสารในปัจจุบัน 12-42 บาท จากข้อมูลการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม 2566 พบว่า
-ผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวัน 19,611 คน
-รายได้เฉลี่ยต่อวัน 0.59 ล้านบาท
-ค่าจ้างบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาต่อวัน 1.31 ล้านบาท
ขาดทุนเฉลี่ยต่อวัน 0.72 ล้านบาท
2. รถไฟฟ้าสายสีม่วง
รถไฟฟ้าสายสีม่วงเป็นการลงทุนทั้งหมดโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีเส้นทางจากเตาปูน-บางใหญ่ ระยะทาง 23 กิโลเมตร ค่าโดยสารในปัจจุบัน 17-42 บาท จากข้อมูลการเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม 2566 พบว่า
-ผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวัน 56,255 คน
-รายได้เฉลี่ยต่อวัน 1.41 ล้านบาท
-ค่าจ้างบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาต่อวัน 7.39 ล้านบาท
-ขาดทุนเฉลี่ยต่อวัน 5.98 ล้านบาท
3. ในปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีมวงขาดทุนรวมกันวันละเกือบ 7 ล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีแดงขาดทุนวันละ 0.72 ล้านบาท ในขณะที่รถไฟฟ้าสายสีม่วงขาดทุนมากกว่า โดยขาดทุนถึงวันละ 5.98 ล้านบาท รวมทั้งสองสายขาดทุนวันละ 6.7 ล้านบาท
4. ถ้าเก็บ 20 บาท ตลอดสาย จะขาดทุนหนักขึ้น

รมว.คมนาคม บอกว่าจะเร่งผลักดันรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย เฉพาะสายสีแดง และสายสีม่วง เป็นสายนำร่องให้ได้ภายใน 3 เดือน เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2567 ให้ผู้โดยสาร กรณีนี้หากผู้โดยสารจ่าย 20 บาท เพื่อใช้สายสีแดง (หรือสายสีม่วง) เมื่อเปลี่ยนไปใช้สายสีอื่นจะต้องจ่ายค่าโดยสารเพิ่มขึ้นตามอัตราค่าโดยสารของสายนั้นๆ การเก็บ 20 บาท ตลอดสาย แต่ไม่สามารถใช้ข้ามสายได้ จะไม่ทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมาก และจะสร้างความไม่พอใจให้กับผู้โดยสารที่ในปัจจุบันจ่ายค่าโดยสารต่ำกว่า 20 บาท โดยเฉพาะผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งจ่ายเริ่มต้นเพียง 12 บาท เท่านั้นเมื่อมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นไม่มาก รายได้จากค่าโดยสารก็จะต่ำกว่าเดิม เป็นผลให้รถไฟฟ้าทั้งสองสายขาดทุนหนักขึ้น
สรุป ผมเห็นด้วยกับการทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลง แต่ก่อนเริ่มใช้ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย รมว.คมนาคม จะต้องรู้ว่ารัฐจะต้องสูญเสียรายได้ไปเท่าไหร่ ? คุ้มหรือไม่กับประโยชน์ที่จะได้รับจากการมีผู้ใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ? และที่สำคัญ จะมีผู้ใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นกี่คน ?
ที่มา : ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่น ๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY