อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เปิดแผน สงกรานต์ 2567 เตรียมเปียกกันทั้งเดือน
วันนี้ 1 ธันวาคม 2566 อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ นั้นได้ออกมาเปิดเผยความคืบหน้า เกี่ยวกับแผนการพัฒนาซอฟพาวเวอร์ของประเทศไทย ที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยนั้นดีขึ้น จากการขับเคลื่อนวัฒนธรรม เทศกาล หรือความยูนีคของประเทศไทย ให้ไปสู่สายตาชาวโลก
โดยในวันนี้ อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร นั้นได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Ing Shinawatra โดยมีข้อความว่า “แผนงานปีหน้า เริ่มแล้วค่ะ ประชุมคณะกรรมการการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์เมื่อวานนี้ ทั้ง 12 คณะ จาก 11 อุตสาหกรรม ได้เสนองบประมาณเพื่อเตรียมดำเนินการในปีหน้า โดยหลังจากนี้เราจะเสนองบประมาณตามลำดับขั้นตอนต่อไป”
และอีกหนึ่งเรื่องใหญ่และน่าตื่นเต้น คือแผนงานใหญ่ปีหน้า วันสงกรานต์จะไม่ใช่แค่เทศกาลแบบในอดีตที่ผ่านมา แต่เราจะจัดงานใหญ่ มหาสงกรานต์ World Water Festival – The Songkran Phenomenon เราจะปักหมุดให้สงกรานต์ในไทยปีหน้า เป็นเทศกาลที่คนทั้งโลกต้องบินมาเล่นที่บ้านเรา และสงกรานต์ปีหน้า เราจะไม่เล่นน้ำแค่ 3 วันนะคะ แต่จะจัดงานกันทั้งเดือน ทยอยจัดกันทั้งประเทศ 77 จังหวัด
เตรียมวางแผนกันได้เลยนะคะว่าสัปดาห์ไหนของเดือนเมษายน อยากจะไปเล่นน้ำสงกรานต์กันที่จังหวัดไหนค่ะ มาร่วมกันทำให้สงกรานต์บ้านเรา เป็นเทศกาลที่ทั่วโลกต้องปักหมุดมาเล่นน้ำที่บ้านเรา และทำให้ประเทศไทยติด 1 ใน 10 ประเทศสุดยอดเฟสติวัลโลกค่ะ
เปิดงบประมาณโครงการแต่ละสาขา
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้เห็นชอบในหลักการอนุมัติงบประมาณแต่ละโครงการ กิจกรรม และอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทยทั้ง 11 ด้าน งบประมาณรวม 5,164 ล้านบาท ได้แก่
- สาขาที่ 1 สาขาอุตสาหกรรมเฟสติวัล ที่ดำเนินการเกี่ยวกับข้อมูล การสื่อสาร และการผลักดันเฟสติวัลต่างๆ งบประมาณที่จะใช้ 1,009 ล้านบาท
- สาขาที่ 2 สาขาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เสนอจัดระบบการท่องเที่ยวใหม่ทั้งระบบ การสร้างกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว งบประมาณรวม 711 ล้านบาท
- สาขาที่ 3 สาขาอาหาร มี 3 โครงการใหญ่ เช่น 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย, เชฟชุมชน และเชฟชาแนล งบประมาณรวม 1,000 ล้านบาท
- สาขาที่ 4 สาขาศิลปะไทย จำนวน 5 โครงาร อาทิ เปิดหอศิลป์บริเวณถนนรัชดาภิเษก, จัดตั้งสภาศิลปะแห่งประเทศไทย, จัดกองทุนสนับสนุนศิลปะการแสดงร่วมสมัย งบประมาณรวม 380 ล้านบาท
- สาขาที่ 5 สาขาออกแบบ ส่งเสริมไทยแลนด์แบรนด์ งบประมาณรวม 310 ล้านบาท
- สาขาที่ 6 สาขากีฬา เน้นส่งสริมประสิทธิภาพมวยไทย กิจกรรมมวยไทย ทั้งใน และต่างประเทศ งบประมาณรวม 500 ล้านบาท
- สาขาที่ 7 สาขาดนตรีในการพัฒนาหลักสูตรเฉพาะ และส่งเสริมการฝึกอบรม ส่งเสริมศิลปินไทยสู่ระดับโลก งบประมาณรวม 144 ล้านบา
- สาขาที่ 8 สาขาหนังสือ ให้หนังสือไทยออกสู่หนังสือนานาชาติ งบประมาณรวม 69 ล้านบาท
- สาขาที่ 9 สาขาภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ การจัดเทศกาลเอ็กซ์โปในประเทศ และต่างประเทศ ส่งเสริมการสร้างภาพยนตร์ และซีรีส์ ผลักดันสู่ออสการ์ งบประมาณรวม 545 ล้านบาท
- สาขาที่ 10 สาขาแฟชั่น พัฒนาหลักสูตรออนไลน์ การเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการ และส่งเสริมการแสดงสินค้าในต่างประเทศ งบประมาณรวม 268 ล้านบาท
- สาขาที่ 11 สาขาเกม พัฒนาหลักสูตร การส่งเสริมผู้ประกอบการ ส่งเสริมกองทุน และสร้างสนามกีฬาอีสปอร์ตแห่งชาติ งบประมาณรวม 374 ล้านบาท

ที่มา : Ing Shinawatra