สมรสเท่าเทียม นาย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ คณะก้าวหน้า โพสต์สนับสนุนร่างกฎหมายพร้อมแฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม โดยนาย ธนาธร ได้แชร์ประเด็นนี้จากเพจพรรคก้าวไกล ที่โพสต์ข้อความหัวข้อ “ร่วมผลักดันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม” และระบุว่า
“เดือนนี้คือเดือนแห่งความภาคภูมิใจ หรือ Pride Month เราจึงขอประกาศว่า บัดนี้การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหมวดแห่งการสมรสได้สิ้นสุดเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว พรรคก้าวไกลขอเป็นตัวแทนพี่น้องความหลากหลายทั้งประเทศ ยื่นร่างแก้ไขกฎหมาย 69 มาตรา ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เรามั่นใจว่าท่านจะบรรจุวาระเพื่อให้ ส.ส. ซึ่งตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศได้ช่วยกันปักหมุดหมายดำเนินการให้คนทุกคน ทุกเพศสภาพ ทุกเพศวิถี สามารถเข้าถึงการสมรสอย่างเท่าเทียมกัน”
นี่คือถ้อยความ ในวันที่ 18 มิถุนายน 2563 ณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวแถลงถึงร่างกฎหมายแห่งความภาคภูมิใจฉบับล่าสุดที่ยื่นต่อสภา เพราะกว่าจะได้กฎหมายฉบับนี้มาไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจาก มีอุปสรรคพอสมควร ไม่ว่าสถานการณ์ทางการเมืองและโรคระบาดที่เข้ามาคั่นช่วง แต่คณะทำงานด้านความหลากหลายทางเพศของพรรคยังคงทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาชนด้านความหลากหลายทางเพศเรื่อยมา ตั้งแต่ยังเป็นพรรคอนาคตใหม่จนกระทั่งสืบเนื่องมาเป็นพรรคก้าวไกล กฎหมายฉบับนี้ก็คือ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายเพ่งและพาณิชย์ ม.1448 หมวดว่าด้วยการสมรส ให้ทันต่อกาลสมัยและสอดคล้องกับโลกปัจจุบัน โดยนัยว่าความภาคภูมิใจนี้ก็คือ ก้าวแรกที่เดินออกไปเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเท่าเทียมเสมอภาคกันในสังคมอันเป็นพันธกิจหลักที่เราจะต้องสานต่อภารกิจอนาคตใหม่ให้สำเร็จ
เปลี่ยน “ชาย-หญิง” เป็น “บุคคล-บุคคล”
ในการสมรสกัน เรายืนยันว่า ต้องเปลี่ยนคำว่า “ชาย-หญิง” ให้เป็นคำว่า “บุคคล-บุคคล” เพราะเราไม่ต้องการให้กฎหมายเลือกปฏิบัติทางเพศ บุคคลที่รักกันและต้องการใช้ชีวิตร่วมกัน จะต้องมีสิทธิ์ในการจัดการทรัพย์สิน มีโอกาสใช้ชีวิตร่วมกันในอนาคต เช่นเดียวกับที่คู่สมรส ชาย-หญิง มี เพราะมันเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดที่ประชาชนทุกคนควรจะได้รับ
เปลี่ยน “สามี-ภรรยา” เป็น “คู่สมรส”
คำว่า ‘สามี-ภรรยา’ ก็เป็นการกำหนดเพศและบทบาทหน้าที่ของคู่สมรสให้มีแค่ชาย(สามี)และหญิง(ภรรยา)เช่นกัน จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนคำว่า ‘สามี-ภรรยา’ ให้กลายเป็น ‘คู่สมรส’ ซึ่งนอกจากจะเป็นการสลายข้อจำกัดเดิมทางความหมายเดิมที่มีเพียงสองเพศแล้ว ยังเป็นการสลายภาระหน้าที่ว่าสามีต้องเป็นแบบนั้น ภรรยาต้องเป็นแบบนี้ที่ติดตามมาพร้อมกับคำว่า สามี-ภรรยา ซึ่งคำว่า คู่สมรส ก็เป็นคำที่ใช้กันทางกฎหมายอยู่แล้ว ไม่ใช่คำใหม่ที่คิดเพิ่มเติมขึ้นมา มีศักดิ์และสิทธิ์เท่าเทียมกันกับคำเดิม เพราะฉะนั้นการใช้คำในกฎหมายฉบับนี้จึงไม่กระทบกับผู้หญิงและผู้ชาย สิทธิและการคุ้มครองต่างๆ ยังเป็นไปตามปกติ เพราะฐานคิดของกฎหมายนี้ก็คือการเคารพในทุกเพศให้มีความเสมอภาคกัน
“การเลือกปฏิบัติคือการกีดกันความคิดและเสรีภาพ การเลือกปฏิบัติคือการกีดกันทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม และการเลือกปฏิบัติคือการกีดกันความรัก”
เหตุผลที่คนเราจะสมรสหรือแต่งงานกันเป็นเพราะ “ความรัก” อย่างเดียวจริงหรือ? ถ้าเช่นนั้น ทำไมกฎหมายเกี่ยวกับการสมรสถึงอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์?
สาเหตุที่กฎหมายว่าด้วยการสมรสอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ เพราะกฎหมายการสมรสเป็นเรื่องของการจัดการทรัพย์สิน มรดก กรรมสิทธิ์ การกู้เงิน อสังหาริมทรัพย์ การเลี้ยงดูบุตร โครงสร้างครอบครัว รวมถึงการได้รับสิทธิ์ สวัสดิการ และการคุ้มครองต่างๆ จากรัฐในฐานะคู่สมรส ดังนั้น การจะได้รับสิทธิจากรัฐ ใบทะเบียนสมรสจึงเป็นเสมือนบัตรผ่านไปสู่สิทธิตามกฎหมายที่ประชาชน “ทุกคน” ต้องได้รับอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน และเรากำลังต้องการความร่วมมือร่วมใจจากทุกคนเพื่อมาปรับปรุงแก้ไขจุดนี้
“รัฐไม่สามารถไปการันตีได้หรอกว่าการสมรสจะเป็นการยืนยันความรักของคู่สมรสได้หรือไม่ แต่รัฐสามารถรับรอง ‘สิทธิ์อย่างเสมอหน้ากันตามกฎหมาย’ให้ประชาชน ‘ทุกคน’ ผ่านการให้สิทธิสมรสเท่าเทียมได้”
อย่าเข้าใจผิดว่า “การแต่งงาน” เท่ากับ “การสมรส”
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการแต่งงานคืองานพิธีตามประเพณีของคู่แต่งงาน แต่การสมรสคือการจดทะเบียนตามกฎหมาย ที่เราเห็นคู่แต่งงานเพศเดียวกันจัดงานแต่งกัน เขาแค่จัดงานฉลองแต่งงานกันได้ แต่ไม่สามารถสมรสกันตามกฎหมายได้ ทำให้เขาไม่ได้รับสิทธิหน้าที่ สวัสดิการและความคุ้มครองตามกฎหมายที่ประชาชนทุกคนควรจะเป็น และนี่คือภาพลวงตาของความไม่เท่าเทียมกันที่เกิดขึ้น
ทำไมต้องทำเรื่องแค่นี้? ทำไมไม่สนใจเรื่องปากท้องก่อน?
ความเดือดร้อนของประชาชนไม่ใช่เรื่องของจำนวน แค่ประชาชนหนึ่งคนหากเดือดร้อนก็เป็นหน้าที่ของผู้แทนราษฎรที่จะต้องเข้าไปเป็นปากเสียงให้
ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมจึงไม่ทำเรื่องปากท้องก่อนนั้น ไม่ว่าการเข้าถึงสิทธิการกู้ร่วมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย การเซ็นยินยอมเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลของคู่สมรส การจัดการทรัพย์สิน มรดก สวัสดิการ การดูแลคุ้มครองและเรื่องต่างๆ ทั้งหมดก็ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่อง “ปากท้องและชีวิต” ทั้งสิ้น
มีความจำเป็นอะไรที่ต้องแก้กฎหมายในตอนนี้?*
เราคงต้องถามกลับว่า “ทำไมเพิ่งมาทำตอนนี้?” ต่างหาก
เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา บุคคลผู้มีความหลากหลายในประเทศไทยถูกโกงความเป็นมนุษย์ ถูกฆ่าตัดตอนความฝันมาตลอด การหยิบยกเรื่องความเท่าเทียมกันของผู้หลากหลายมาพูด ไม่ใช่การทำเรื่องที่พิเศษหรือไม่ได้ยก LGBT ให้ขึ้นมาเหนือกว่าชายหญิง หรือคนกลุ่มใดมีสิทธิเหนือกว่าใคร แต่คือการทำคนให้เท่ากัน ซึ่งการสมรสนั้นก็คือ ‘สิทธิขั้นพื้นฐาน’ ที่มนุษย์ทุกคนพึงมีและพึงได้ และการถอดมายาคติและบทบาทหน้าที่ของความเป็นสามี-ภรรยา ชาย-หญิง ออกไป เป็นเรื่องที่ต้องทำไปพร้อมกันเพื่อความเท่าเทียมกันทางเพศด้วย
Pride Month หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ตรงกับเดือนมิถุนายนของทุกปี เพื่อสนับสนุนสิทธิและเสรีภาพของกลุ่ม LGBTQ+ ในเดือนนี้ หลายประเทศทั่วโลกจะจัดให้มีกิจกรรมหรือขบวน Pride Parades ขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองพร้อมธงสีรุ้ง
ซึ่งท่ามกลางความสุขสนุกสนานนั้น จุดเริ่มต้นของของเดือนแห่งความภาคภูมิใจกลับมาจากเหตุการณ์อันน่าสะเทือนใจที่ปลุกเร้าให้พวกเขาต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ เช้านั้นตรงกับวันที่ 28 มิถุนายน ปี 1969 ที่บาร์เกย์ สโตนวอลล์ อินน์ (Stonewall Inn) นิวยอร์ก อเมริกา ตำรวจชุดหนึ่งได้มาตรวจค้นที่บาร์ ขณะที่ผู้คนต่างมองว่าเรื่องนี้คือเรื่องปกติ แต่ที่นี่คือสถานที่รวมกันของชาวเกย์แห่งใหญ่จุดหนึ่ง และผู้คนในบาร์ก็ได้ขัดขืนเพราะมองว่าการกระทำในครั้งนี้คือการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจนจนเกิดเป็นการจลาจล เหตุการณ์ดังกล่าวจึงเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเรียกร้องสิทธิและความเสมอภาคของชาว LQBTQ+ ไปทั่วโลก
Pride Month ถือเป็นกิจกรรมที่ไม่จำกัดผู้เข้าร่วมว่าจะต้องเป็น LGBTQ+ เพราะไม่ว่าใครที่รักในความเท่าเทียมต้องการขจัดความไม่เป็นธรรมหรือการเลือกปฏิบัติทางเพศก็สามารถเข้ามาร่วมต่อสู้ด้วยความภาคภูมิใจได้เหมือนกัน
ในโอกาสนี้ พรรคก้าวไกลขอเชิญทุกคนร่วมต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความเท่าเทียมเสมอภาคและไร้ซึ่งการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานทางเพศด้วยกันร่วมผลักดันร่างกฎหมายนี้ให้สำเร็จลุล่วง อันถือเป็นเพียงก้าวแรกของการต่อสู้อันยาวไกลของพวกเรา
