รายงานพิเศษ : ปัจจัยสะเทือน”เพื่อไทย” พลิกเกมยึด”ไทยรักษาชาติ” เดิมพันก้าวย่าง”ทักษิณ”
ยังฝุ่นตลบอย่างต่อเนื่องสำหรับกลุ่มก้อนอดีตส.ส.ในพรรคเพื่อไทย ต่อการตัดสินใจย้ายไปอยู่พรรคเครือข่ายอย่างไทยรักษาชาติ(ทษช.) จนถึงนาทีนี้
เพราะทุกการตัดสินใจไม่ใช่แค่ปรับกลยุทธ์พรรคเพื่อหวังโกยคะแนนส.ส.เท่านั้น แต่หมายถึงเปลี่ยนที่มั่นทางการเมืองของอดีตส.ส.อย่างเบ็ดเสร็จ ภายหลังปักหลักกับเพื่อไทยมานานหลายปี ท่าทีแกนนำระดับ“เกรดเอ” โดยเฉพาะท่าทีจาก “จาตุรนต์ ฉายแสง” ยังอยู่ระหว่างตัดสินใจจะย้ายมาเสริมทัพไทยรักษาชาติ ตามที่มีกระแสข่าวมาก่อนหน้านี้หรือไม่
ถึงแม้ล่าสุดแกนนำพรรคอย่าง “พิชัย นริพทะพันธุ์” อดีตรมว.พลังงาน “เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช” อดีตรมช.มหาดไทย ผู้พ่อ “ปรีชาพล พงษ์พานิช” หัวหน้าพรรคใหม่ถอดด้าม และ “เดียร์” ขัตติยา สวัสดิผล จะยอมทิ้งเพื่อไทยย้ายมาไทยรักษาชาติแล้วก็ตาม
ทว่าการตัดสินใจหันหลังให้เพื่อไทยจากแกนนำและอดีตส.ส. ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากปัจจัยความร้าวลึกภายในพรรค พุ่งเป้าไปที่“สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เลือกตั้งพรรคเพื่อไทย กลายเป็นคีย์สำคัญทำให้เพื่อไทยเกิดเเรงกระเพื่อมขนาดใหญ่ ถึงขั้น “ไม่ยอมรับ” ในทุกบทบาทของ“หญิงหน่อย” ที่มีกระแสว่าเลือกปฏิบัติกับบุคคลใกล้ชิดเท่านั้น ถึงแม้งานนี้อดีตส.ส.หลายคนยืนยันว่า “การย้ายพรรค” ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง แต่เกิดจากอุดมการณ์และแนวคิดที่ตรงกันกันเท่านั้น
แต่ภายใต้รอยยิ้มนั้นฉากหลังเต็มไปด้วยการทิ่มแทงเพื่อจุดชนวนบาดหมางทั้งสิ้น !
หากมองปัจจัยที่ใช้ตัดสินใจของอดีตส.ส.ครั้งนี้ ก่อนการเปิดตัววันที่ 19 พ.ย. หรือเส้นตายการสังกัดพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง 24 ก.พ.2562 ในวันที่ 26 พ.ย.2562 ไว้ที่ 6 ปัจจัย 2.การเปลี่ยนแปลงของจังหวะการเมืองที่มีความเคลื่อยไหวทุกวัน 2.การเคาะพื้นที่เพื่อลงสมัครส.ส. 3.ความต้องการอยู่ในส.ส.บัญชีรายชื่อของเพื่อไทยในอันดับต้นๆ เพื่อการันตีในเก้าอี้ 4.ความไม่มั่นใจกับอนาคตของพรรคหน้าใหม่ 5.ที่ผ่านมาทำพื้นที่เขตมายาวนาน หากย้ายไปพรรคใหม่จะตอบคำถามฐานเสียงอย่างไร และ 6.หนีกระแสยุบพรรค
ดังนั้นกระแสข่าวการบินไปพูดคุยกับ “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” ถึงสิงคโปร์ในสุดสัปดาห์นี้ จะเร่งหาข้อสรุปการแต่งตั้งโยกย้าย รวมถึงวางกลยุทธ์ให้พรรคนำ-พรรครอง-พรรคตาม โดยเฉพาะการจัดแถวว่าที่ผู้สมัครในเขตต่างๆ ปิดทางไม่ให้คะแนนเสียงที่ได้มาหล่นน้ำ เพื่อสร้างโอกาสหลังการเลือกตั้ง และเพิ่มโอกาสหน้าไพ่ในมือมาเล่น
เมื่อ “ไทยรักษาชาติ” ถูกวางให้เป็นพรรคไฮเอนด์ มากกว่าพรรคเพื่อชาติ พรรคเพื่อธรรม หรือพรรคประชาติ จากโลโก้พรรค นโยบาย กลุ่มคนรุ่นใหม่ ถูกวางเกมจุดพลุให้เป็นพรรคหน้าใหม่เหมือนช่วงกระแส“ไทยรักไทย” ก่อตั้งจนติดลมบนได้เพียงไม่นาน
แต่ฝั่งอดีตส.ส.เพื่อไทยอีกกลุ่ม ยังนั่งดีดลูกคิด และมองไปที่ “ความเสี่ยง” การไปตั้งรกรากใหม่ที่ไทยรักษาชาติ หากยังไม่มี “บิ๊กเนม” บวกกับ “แม่เหล็ก” ให้พรรค การหาเสียงครั้งต่อไปจะมีโอกาสชวดเก้าอี้ส.ส.อย่างสูงเช่นกัน ทำให้การประชุมพรรคไทยรักษาชาติพร้อมเปิดตัวนโยบายวันที่ 19 พ.ย. กำลังถูกจับตาว่าจะเปิดตัวแกนนำระดับแนวหน้ารวมถึงบุคคลในแวดวงนักธุรกิจมาเสริมทัพไทยรักษาชาติหรือไม่ ?
“วัฒนา เมืองสุข” แกนนำพรรคเพื่อไทย เปิดเผยการได้พูดคุยความในใจกับ“จาตุรนต์” ถึงการตัดสินใจทางการเมืองที่สำคัญ ตอนนี้ทุกคนอยากรู้ “จาตุรนต์” จะย้ายพรรคหรือไม่ จากทางเลือก 2 แนวทาง 1.ลงเลือกตั้งแบบแบ่งเขตในนามพรรคเพื่อไทย หรือ 2.ลงเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ แต่จะต้องไปหาพรรคอื่นสังกัด เพราะหากอยู่เพื่อไทยอาจจะไม่มีผู้แทนแบบบัญชีรายชื่อ แต่จาตุรนต์ได้บอกว่าคงต้องตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.เขต 1 จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งจะต้องให้น้องสาวที่เป็นเจ้าของพื้นที่เดิมเสียสละ แปลว่านายจาตุรนต์จะยังอยู่พรรคเพื่อไทยตามเดิม
“สำหรับสมาชิกคนสำคัญของพรรคเพื่อไทยที่ย้ายไปสังกัดพรรคไทยรักษาชาติ เพราะามชิกเหล่านั้นอยากทำงานในสภา แต่บางคนไม่ถนัดลงเลือกตั้งแบบแบ่งเขต บางคนไม่มีพื้นที่จึงต้องย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อเพิ่มโอกาสการเป็นส.ส.”วัฒนาระบุ
จากนั้นไม่กี่ชั่วโมง “จาตุรนต์” โพสข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ชี้แจงว่า ที่วัฒนาบอกว่าตกลงใจที่จะลงสมัครส.ส.เขต 1 จ.ฉะเชิงเทรานั้นไม่เป็นความจริง อาจเป็นเพราะสัญญาณโทรศัพท์ไม่ดี หรือเป็นการเข้าใจผิดมากกว่า เพราะวัฒนาได้ถามว่าถ้าจะลงสมัครเป็นส.ส.เขต ต้องลงที่ไหน ลงที่กรุงเทพฯ หรือฉะเชิงเทราได้หรือไม่ จึงได้ตอบไปว่าถ้าลงกรุงเทพฯ คงไม่ได้ เพราะไม่ถนัด ถ้าจะลงที่แปดริ้วต้องไปแทนที่น้องสาวซึ่งจะเป็นปัญหา ทำให้“วัฒนา”ต้องกลับมาโพสเฟซบุ๊ก ขอโทษทำให้“จาตุรนต์”เข้าใจผิด พร้อมทิ้งท้ายว่า ไม่ว่าจาตุรนต์จะตัดสินใจอนาคตทางการเมืองอย่างไร ยังคงเป็นพี่น้องกันเสมอ
ทั้งหมดจึงเป็นสภาพการณ์”ความไม่นิ่ง” จากกลุ่มก้อนภายในเพื่อไทย ที่บีบคั้นต่อทุกการตัดสินใจก่อนเส้นตาย 26 พ.ย. โดยมี”อนาคตทางการเมือง”เป็นเดิมพันทั้งสิ้น