กลุ่ม ปตท. เตรียมหนุน “ไฮโดรเจน”
เป็นพลังงานในอนาคต มุ่งสู่ทิศทาง “ความยั่งยืนอย่างสมดุล”
จากการที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ มุ่งดำเนินธุรกิจบนหลักการ “ความยั่งยืนอย่างสมดุล” ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี ภายใต้วิสัยทัศน์ “ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทย และเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” โดยนอกจากพันธกิจหลักในการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ปตท. ยังมุ่งบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี พ.ศ. 2593 หรือ ค.ศ. 2050 โดย 1 ใน แนวทางคือการสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด อย่างเช่น ไฮโดรเจน ซึ่งคุณสมบัติที่ดีของ ไฮโดรเจน คือไม่มีสี ไม่มีกลิ่น นอกจากนี้ยังมีการเผาไหม้ที่สะอาด ไม่ปล่อยมลพิษหลังเผาไหม้แล้ว ที่สำคัญ ไฮโดรเจน ยังสามารถนำไปใช้เป็นพลังงงานได้อย่างหลากหลายอีกด้วย
“ไฮโดรเจน” เป็นพลังงานสะอาดที่ถูกมองว่าเป็นหัวใจสำคัญในการที่จะช่วยลดคาร์บอนในอนาคต ทำให้มีหลากหลายประเทศที่ได้ออกนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมไฮโดรเจน เพื่อกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์และอุปทานภายในประเทศ
โดยในปัจจุบันมีการใช้งานเทคโนโลยีไฮโดรเจนมากกกว่า 30 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะยุโรป สหรัฐอเมริกา และตะวันออกกลาง เนื่องจากความได้เปรียบเชิงพื้นที่ในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ยกตัวอย่างเช่น
ประเทศเยอรมัน ที่มีการร่วมมือกับประเทศรัสเซีย ในการนำไฮโดรเจนที่ผลิตได้ส่งผ่านท่อเพื่อมาใช้ในประเทศ ทั้งยังมีการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าพลังงานไฮโดรเจนเป็นครั้งแรกของโลก ที่สามารถวิ่งได้ราว 1,000 กม./ H2หนึ่งถัง และมีความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 140 กม./ชม. เพื่อเป็นการทดแทนการใช้รถไฟดีเซล
ประเทศญี่ปุ่น ทาง HONDA ได้ทำการทดสอบ Data Center พลังงานไฮโดรเจน และทาง ISUZU ได้มีการนำรถบรรทุกพลังงานไฮโดรเจนทดลองวิ่งใช้งานจริงก่อนจะเตรียมเปิดขายในปี ค.ศ. 2027
ประเทศฝรั่งเศส บริษัท Pragma Industries ได้ทำการผลิตจักรยานพลังงานไฮโดรเจน และทาง บริษัท Compagnie Fluvial de Transport ได้เริ่มใช้เรือพลังงานไฮโดรเจนในการขนส่งสินค้าเชิงพาณิชย์
ส่วนใน ประเทศไทย เองนั้น ก็มีความเป็นไปได้ในการใช้ประโยชน์จากเชื้อเพลิงไฮโดรเจนเพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอนใน 3 ภาคส่วนหลักได้แก่
ภาคอุตสาหกรรม กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานความร้อนสูง เช่น อุตสาหกรรมเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ เคมีภัณฑ์ การกลั่นน้ำมัน
ภาคการผลิตไฟฟ้า ใช้เป็นเชื้อเพลิงโดยตรงหรือนำไปผสมกับก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าด้วยกังหันก๊าซไฮโดรเจนผ่านกระบวนการเผาไหม้โดยตรงหรือผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิง
ภาคการขนส่ง สามารถนำมาใช้ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันปิโตรเลียมสำหรับเครื่องยนต์สันดาปภายในหรือใช้เป็นเชื้อเพลิงโดยตรงในรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงรวมถึงรถโดยสารและรถบรรทุก
ทั้งนี้ทั้งนั้นราคา ไฮโดรเจน สีเขียวมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากต้นทุนเทคโนโลยี Water Electerolysis มีราคาที่ต่ำลงกว่า 40-50% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และราคาต้นทุนไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีแนวโน้มลดลง โดยค่าเฉลี่ยต้นทุนพลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์และพลังงานลง ลดลงกว่า 40-90% ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีในการนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นพลังงานสะอาด ต่อไปในอนาคต
