ทิศทาง “ความยั่งยืนอย่างสมดุล”
กลุ่ม ปตท. มุ่งพัฒนาการใช้ “ไฮโดรเจน”
เพื่อเป็นพลังงานแห่งอนาคต
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ มุ่งดำเนินธุรกิจบนหลักการ “ความยั่งยืนอย่างสมดุล” ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี ภายใต้วิสัยทัศน์ “ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทย และเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” โดยนอกจากพันธกิจหลักในการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ปตท. ยังมุ่งบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี พ.ศ. 2593 หรือ ค.ศ. 2050 โดยมีการผสานการบริหารจัดการทั้งกลุ่ม ปตท. ผ่านแนวทาง C3 ได้แก่
Climate Resilience Business การปรับ Portfolio พิจารณาเรื่องการปลดปล่อยคาร์บอน (Carbon Emission) ควบคู่กับการเติบโตทางธุรกิจ
Carbon-Conscious Asset การปรับปรุงประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต ใช้พลังงานสะอาด อาทิ Hydrogen การนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในกระบวนการผลิต รวมทั้งการนำคาร์บอนไดออกไซด์แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ (Carbon Capture and Utilization: CCU)
Coalition, Co-Creation, and Collective Efforts for All ประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเป็นแกนหลักของประเทศในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยใช้เทคโนโลยีการดักจับและการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage: CCS) รวมถึงการเพิ่มการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีทางธรรมชาติ ผ่านการปลูกและบำรุงรักษาป่า
อีกทั้งเป็นโอกาสให้เกิดเป็นธุรกิจใหม่ด้านการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) และ ธุรกิจไฮโดรเจน (Hydrogen) ด้วย มาทำความรู้จัก และเข้าใจ “Hydrogen” ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่กัน…
ปัจจุบัน พลังงานไฮโดรเจน ได้รับความสนใจจากทั่วโลก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดความต้องการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มสูงขึ้น และเชื่อว่า “ไฮโดรเจน” จะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงาน (Energy Transition) และคงไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไปสำหรับประเทศไทยต่อจากนี้
ไฮโดรเจน (H2) มีการคิดค้นเพื่อใช้งานมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 โดย น้ำ (H2O) ถือเป็นสารประกอบไฮโดรเจนที่มีมากที่สุดในโลก โดยไฮโดรเจนจะมีอยู่ได้ในทั้ง 3 สถานะ คือ ของแข็ง ของเหลว และก๊าซ โดยจะเปลี่ยนสถานะไปตามอุณหภูมิและแรงดัน ซึ่งคุณสมบัติที่ดีของ ไฮโดรเจน คือไม่มีสี ไม่มีกลิ่น นอกจากนี้ยังมีการเผาไหม้ที่สะอาด ไม่ปล่อยมลพิษหลังเผาไหม้แล้ว ที่สำคัญ ไฮโดรเจน ยังสามารถนำไปใช้เป็นพลังงงานได้อย่างหลากหลายอีกด้วย โดยไฮโดรเจน จะมีการกำหนดสี เพื่อบ่งบอกถึงความสะอาด ตามการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) ในปริมาณที่ต่างกันได้ดังนี้
ไฮโดรเจนสีน้ำตาล (Brown Hydrogen) จะใช้ถ่านหิน เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิต ผ่านกระบวนการแปรสภาพเป็นก๊าซ (Gasification) เป็นกระบวนการที่ปล่อย CO₂ มากที่สุด
ไฮโดรเจนสีเทา (Grey Hydrogen) ใช้ก๊าซธรรมชาติ เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตผ่านกระบวนการเปลี่ยนรูปสารไฮโดรคาร์บอนด้วยไอน้ำ (steam Methane Reforming : SMR) มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ไฮโดรเจนสีฟ้า (Blue Hydrogen) ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ แต่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตจะถูกกักเก็บด้วยเทคโนโลยีการดักจับและการจัดเก็บการ์บอน (Carbon Capture and Storage : CCS)
ไฮโดรเจนสีชมพู (Pink Hydrogen) ใช้พลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ นำมาผ่านกระบวนการแยกไฮโดรเจนออกจากน้ำ (Water Electrolysis)
ไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) ใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ หรือ ลม นำมาผ่านกระบวนการแยกไฮโดรเจนออกจากน้ำ (Water Electrolysis)

โดยที่ ไฮโดรเจนสีเขียว นับว่าเป็นพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ว่าปัจจุบันจะมีการผลิตเพียง 5% ของปริมาณไฮโดรเจนที่ใช้งานกันทั่วโลก แต่ก็เป็นที่คาดหมายกันว่าไฮโดรเจนสีเขียวนี้จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในด้านพลังงานหลังปี ค.ศ.2030 เป็นต้นไป และในเรื่องของราคาก็อาจจะถูกกว่าไฮโดรเจนสีเทาในอนาคตอีกด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดผลดีต่อสิ่งแวดล้อม และเกิดความยั่งยืนอย่างสมดุล