กลุ่ม ปตท. พร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐ มุ่งส่งเสริม ”ไฮโดรเจน” เป็นพลังงานแห่งอนาคต
“ไฮโดรเจน” เป็นพลังงานสะอาดที่ถูกมองว่าเป็นหัวใจสำคัญในการที่จะช่วยก๊าซเรือนกระจกในอนาคต ด้วยคุณสมบัติเฉพาะตัวที่สามารถใช้งานภาคส่วนต่าง ๆ ของเศรษฐกิจ ทำให้มีหลากหลายประเทศที่ได้ออกนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมไฮโดรเจน
โดยในปัจจุบันมีการใช้งานเทคโนโลยีไฮโดรเจนมากกกว่า 30 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะยุโรป สหรัฐอเมริกา และตะวันออกกลาง เนื่องจากความได้เปรียบเชิงพื้นที่ในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ส่วนในประเทศไทยเอง ก็ได้มีการใช้ประโยชน์จากเชื้อเพลิงไฮโดรเจนใน 3 ภาคส่วนหลัก ได้แก่
ภาคอุตสาหกรรม กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานความร้อนสูง เช่น อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ เคมีภัณฑ์ การกลั่นนํ้ามัน
ภาคการผลิตไฟฟ้า ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงโดยตรง หรือนําไปผสมกับก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าด้วยกังหันก๊าซไฮโดรเจน ผ่านกระบวนการเผาไหม้โดยตรง หรือผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิง
ภาคการขนส่ง สามารถนำมาใช้ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันปิโตรเลียมสำหรับเครื่องยนต์สันดาปภายในหรือใช้เป็นเชื้อเพลิงโดยตรงในรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงรวมถึงรถโดยสารและรถบรรทุก
โดยแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ไฮโดรเจนของประเทศไทย จะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ซึ่งประกอบด้วย
- พัฒนาตลาดและสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ใช้
- ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรม
- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
- ปรับปรุงกฎระเบียบและมาตรฐาน
ซึ่งการดําเนินการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนของไทยจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะด้วยกัน คือ
ระยะสั้น (ค.ศ. 2020-2030) เตรียมความพร้อม จะมีการดําเนินโครงการนำร่อง จัดทําแผนและศึกษารูปแบบของธุรกิจใหม่ มีการทดสอบและปรับปรุงระบบกักเก็บและขนส่ง รวมไปถึงมีการจัดทํามาตรฐาน ความปลอดภัยในการผลิตและการใช้ไฮโดรเจน
ระยะกลาง (ค.ศ. 2031-2040) การพัฒนาไฮโดรเจนในเชิงพาณิชย์ในภาคพลังงาน จะมีการใช้ไฮโดรเจนผสม 10-20% ในระบบท่อ และรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle, FCEV) มีการส่งเสริมการลงทุนและการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี พร้อมทั้งได้จัดทำการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และขยายสถานีไฮโดรเจน นอกจากนี้ ยังมีการจัดทํากฎระเบียบ และมาตรฐานของคุณภาพก๊าซธรรมชาติที่ผสมไฮโดรเจน รวมไปถึงสถานีกักเก็บไฮโดรเจน
ระยะยาว (ค.ศ. 2041-2050) มุ่งสู่ Carbon Neutrality และ Net zero emission โดยจะมีการเพิ่มสัดส่วนการผสมไฮโดรเจนมากขึ้นเป็น 25-75% ในระบบท่อ และรถยนต์ FCEV มีการกําหนดโครงสร้าง ราคา พัฒนาแพลตฟอร์มของการตลาดและการซื้อขายคาร์บอน มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและขยายสถานีไฮโดรเจน การสร้างโครงข่าย RE-power เพื่อรองรับไฮโดจเจนสีเขียว นอกจากนี้ยังมีการกำหนดมาตรฐานของการขนส่ง FCEV และสถานีเติมไฮโดรเจน
โดยทาง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เล็งเห็นความสำคัญของการประยุกต์ใช้งานไฮโดรเจนในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมถึงโอกาสในการสร้างธุรกิจไฮโดรเจน โดยที่ผ่านมา ปตท. ได้มีการติดตามการเคลื่อนไหวพร้อมทั้งมีการดำเนินการทางด้านไฮโดรเจนอย่างต่อเนื่อง เช่น
ปี พ.ศ. 2562 กลุ่ม ปตท. ได้มีการจัดตั้ง Hydrogen Thailand Club ร่วมกับพันธมิตรภาครัฐและเอกชนเพื่อเตรียมความพร้อมและผลักดันเทคโนโลยีไฮโดรเจนให้กับประเทศไทยโดยปัจจุบันมีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 54 บริษัท
ปี พ.ศ. 2565 PTT-OR-TOYOTA-BIG ได้ทำการติดตั้งสถานีนำร่อง Hydrogen Station สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงแห่งแรกของประเทศไทย ที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เพื่อศึกษาการไฮโดรเจนในภาคขนส่งของประเทศ
ปี พ.ศ. 2566 PTT-OR-TOYOTA-BIG ได้มีการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ Hydrogen Station ให้สามารถรองรับการใช้งานของรถบรรทุกขนส่งและรถหัวลาก และในส่วนของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ได้ชนะการประมูลเพื่อการพัฒนาโครงการไฮโดรเจนสีเขียวในประเทศโอมาน
ดังนั้น จากการดำเนินงานของ ปตท. ดังกล่าว จึงเป็นแรงสำคัญที่จะช่วยผลักดันเทคโนโลยีพลังงานไฮโดรเจนให้เกิดขึ้นในประเทศ และยังเป็นการส่งเสริมการเติบโตในธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต และบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ของกลุ่ม ปตท. และประเทศไทยที่วางไว้ได้
