วารสาร the American Journal of Preventive Medicine ได้ตีพิมพ์งานวิจัยล่าสุดโดยมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก (UCSF) ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561 ถึงการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ บุหรี่ไฟฟ้า และบุหรี่ธรรมดา ต่อการเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน จากข้อมูลประชากรกลุ่มตัวอย่าง 69,452 คน ซึ่งเป็นการสำรวจระดับประเทศในสหรัฐอเมริกา (the National Health Interview Survey) ปี 2014 และปี 2016
ผศ.นพ.ครรชิต ลิขิตธนสมบัติ นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงผลวิจัยดังกล่าวว่า ผลการศึกษาพบว่าผู้ที่สูบทั้งบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้า มีความเสี่ยงหัวใจวายสูงเพิ่มเป็น 5 เท่า และความเสี่ยงเหล่านี้จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นในกรณีคนที่มีโรคประจำตัวอื่น ๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และภาวะไขมันในเลือดสูง ขณะที่ผู้สูบบุหรี่ที่หันไปสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวายฉับพลันจากกล้ามเนื้อหัวใจตายสูงขึ้น 2 เท่าเทียบกับคนไม่สูบบุหรี่ ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวายที่ใกล้เคียงกับผู้ที่สูบบุหรี่ธรรมดา นอกจากนี้ยังพบว่าความเสี่ยงต่อโรคหัวใจจะลดลง เมื่อเลิกสูบบุหรี่ทั้งกรณีบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้า
ศ.ดร.สแตนตัน แกลนซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมยาสูบและผู้อำนวยการสถาบัน UCSF Center for Tobacco Control Research and Education หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า งานวิจัยฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันในผู้ที่สูบบุหรี่ธรรมดาร่วมด้วยหลายเท่า โดยมีหลายคนเข้าใจว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ลดลง แต่ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าส่วนใหญ่ มักยังสูบบุหรี่ธรรมดาร่วมด้วย และแม้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะมีปริมาณสารก่อมะเร็งต่ำกว่าบุหรี่ธรรมดา แต่ไอบุหรี่ไฟฟ้ามีส่วนประกอบของอนุภาคขนาดเล็กและสารพิษอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและปอด โดยทางเดียวที่จะลดความเสี่ยงเหล่านี้ได้คือ ‘เลิกสูบบุหรี่’