เริ่มแล้ววันนี้! ผู้ใช้รถใช้ถนนที่ชอบ “เบียด-ปาด-แซง” ทางขึ้นสะพาน-ทางลงอุโมงค์ 15 จุด จับจริง…ปรับจริง หลังพบผู้กระทำผิดกว่า 2 แสนรายต่อเดือน หรือเฉลี่ยวันละ 7 พันคน วันที่ 9 พ.ค.นี้
เริ่มแล้ววันนี้! หลังวันนี้ (9 พ.ค.61) กองบังคับการตำรวจราจร (บก.จร.) ออกใบสั่งเพื่อจับปรับจาก “กล้องเลนเชนจ์” โดยตรวจจับผู้ขับรถปาด เบียด แทรก ทางขึ้นสะพาน – อุโมงค์ลอดทางแยก 15 จุดทั่วกรุงเทพฯ หลังพบประชาชนทำผิดกฎจราจรเฉลี่ยวันละ 7,000 คน สำหรับการติดตั้งกล้องเลนเชนจ์ ทั้ง 15 จุด ประกอบด้วย
1. สะพานข้ามแยกบางเขน ถนนงามวงศ์วาน ขาออก
2. สะพานข้ามแยกศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ ขาออก
3. ทางลอดแยกห้วยขวาง ถนนรัชดาภิเษก ขาเข้า
4. สะพานข้ามแยกบรมราชชนนี ถนนบรมราชชนนี ขาออก
5. สะพานข้ามแยกวงเวียนบางเขน ถนนแจ้งวัฒนะ ขาเข้า
6. สะพานข้ามแยกราชเทวี ถนนเพชรบุรี ขาออก
7. แยกสามเหลี่ยมดินแดง ถนนดินแดง ขาเข้า
8. สะพานข้ามแยกประชานุกูล ถนนรัชดาภิเษก ขาออก
9. สะพานศิริราชด้านถนนอรุณอมรินทร์ ถนนอรุณอมรินทร์ ขาออก
10. แยกรัชดา-ลาดพร้าว ถนนลาดพร้าว ขาออก
11. แยกรัชดา-ลาดพร้าว ถนนลาดพร้าว ขาเข้า
12. สะพานข้ามแยกวงศ์สว่าง ถนนรัชดาภิเษก ขาออก
13. สะพานข้ามแยกพระราม 4 ถนนรัชดาภิเษก ขาออก
14. สะพานพระพุทธยอดฟ้า ถนนประชาธิปก ขาเข้า
15. สะพานข้ามแยกกำนันแม้น ถนนกัลปพฤกษ์ ขาออก
สำหรับหลักการทำงานของกล้องเลนเชนจ์ ซึ่งติดตั้งบนโครงเหล็กสูงจากระดับพื้นดิน 5.5 เมตร กึ่งกลางถนน ตรวจจับรถที่กระทำผิดได้ทุกคันตลอด 24 ชั่วโมง โดยการทำงานหนึ่งจุดจะมีกล้อง 3 ตัว กล้องตัวกลางมีเซนเซอร์ตรวจจับรถที่วิ่งทับเส้นทึบไปพร้อมกับบันทึกวิดีโอภาพเคลื่อนไหว เมื่อเซนเซอร์ตรวจพบการกระทำผิดจะสั่งการให้กล้อง 2 ตัว ทางด้านซ้ายขวา ถ่ายภาพก่อนและหลังการกระทำความผิด จากนั้นระบบจะบันทึกและส่งภาพมายังศูนย์ บก.จร. (บก.02) เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบรถคันดังกล่าวว่ามีรายละเอียดตรงกับข้อมูลจดทะเบียนกรมการขนส่งทางบกหรือไม่เช่น ทะเบียน รุ่น ยี่ห้อ สี
จากนั้นจะดำเนินการออกใบสั่งไปยังบ้านเจ้าของรถภายในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน โดยข้อหาเบียดช่องจราจรหรือเปลี่ยนช่องทางเส้นทึบ อัตราโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ทั้งนี้ เจ้าของรถที่กระทำผิดต้องมาชำระค่าปรับภายใน 60 วัน ผ่านทางธนาคารกรุงไทย ไปรษณีย์ หรือตู้เอทีเอ็มที่มีสัญลักษณ์ PTM ติดอยู่ หากยังไม่มาจะออกใบแจ้งเตือนชำระภายใน 30 วัน หากยังไม่มาอีก จะส่งข้อมูลไปให้กรมการขนส่งทางบก ที่ตอนนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงซอฟต์แวร์การเชื่อมระบบ ขณะเดียวกัน ผู้กระทำผิดที่มีข้อสงสัยสามารถตรวจสอบข้อมูลผ่านทางยูอาร์แอล (URL) และรหัสผ่านที่อยู่ท้ายใบสั่งได้