อัยการสูงสุด ชี้กฎหมายใดบ้าง ให้อำนาจรัฐเข้าถึงข้อมูลโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟน หลังจากฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลปม เพกาซัส สปายแวร์
จากกรณีพรรคฝ่ายค้าน ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจช่วงเดือน ก.ค.65 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยในช่วงหนึ่งของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ได้มีการพูดถึงประเด็นว่ารัฐบาลประยุทธ์ อาจมีการใช้ เพกาซัส สปายแวร์ ล้วงข้อมูลของประชาชน นั้น

เกี่ยวกับประเด็นนี้ ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thanakrit Vorathanatchakul ระบุว่า กฎหมายให้อำนาจสอดแนมข้อมูลสมาร์ทโฟน โดยกฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนในปัจจุบันนี้มีจำนวนหลายฉบับ จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนคนไทยควรต้องทราบว่ามีกฎหมายใดบ้างที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือได้ ซึ่งได้แก่กฎหมาย 8 ฉบับ ดังต่อไปนี้
1 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 มาตรา 17 พนักงานสอบสวนซึ่งได้รับอนุมัติจากอัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย แล้วแต่กรณี มีอำนาจยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเพื่อให้มีคำสั่งอนุญาตได้
2 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 30 พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับอนุมัติเป็นหนังสือจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด มีอำนาจยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลอาญาหรือศาลจังหวัดที่มีเขตอำนาจเพื่อให้มีคำสั่งอนุญาตได้
3 พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มาตรา 25 พนักงานสอบสวนคดีพิเศษซึ่งได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นหนังสือ มีอำนาจยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเพื่อให้มีคำสั่งอนุญาตได้
4 พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 11/5 เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ซึ่งได้รับอนุมัติจากเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเป็นหนังสือ มีอำนาจยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลอาญาเพื่อให้มีคำสั่งอนุญาตได้
5 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 46 พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมอบหมายเป็นหนังสือ มีอำนาจยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลแพ่งเพื่อให้มีคำสั่งอนุญาตได้
6 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 18 และมาตรา 19 พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อให้มีคำสั่งอนุญาตได้

7 พระราชบัญญัติข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 6 สำนักข่าวกรองแห่งชาติมีอำนาจใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เครื่องโทรคมนาคม หรือเทคโนโลยีอื่นใด เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลในโทรศัพท์มือถือได้ โดยเป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติกำหนดโดยความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรี โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรองและตรวจสอบการใช้อำนาจจากศาล
8 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 11 (5) เมื่อนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้ประกาศให้สถานการณ์ฉุกเฉินเป็นสถานการณ์ที่มีความร้ายแรงแล้ว นายกรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งตรวจสอบข้อมูลในโทรศัพท์มือถือได้ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรองและตรวจสอบจากศาล
อนึ่ง มีข้อสังเกตว่า กฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนทั้ง 8 ฉบับดังกล่าวข้างต้นนี้ กฎหมายจำนวน 6 ฉบับกำหนดให้ต้องมีคำสั่งอนุญาตจากศาลก่อน คงมีแต่กฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ. ข่าวกรองแห่งชาติฯ และ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยไม่จำต้องมีคำสั่งอนุญาตจากศาล
ขณะที่ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ปฏิเสธเรื่องดังกล่าวโดย ยอมรับว่าระบบการดักฟังข้อมูลในบางประเทศนั้นมีอยู่จริง อย่างไรก็ตามยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีความจำเป็นและไม่พบข้อมูลว่าประเทศไทย จะใช้สปายแวร์ เพื่อดักฟังข้อมูลประชาชนแต่อย่างใด

ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่น ๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY