สถาบันลูกโลกสีเขียว ขอเชิญชวนรับชม เวทีเสวนาเครือข่ายลำน้ำชี เรียนรู้การจัดการและใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติในระบบภูมินิเวศริมน้ำที่หลากหลาย ในวันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม 2565 เวลา 9.00-16.00 น. Live ผ่าน Facebook : Green globe Institute
จากข้อสังเกตว่ามีบุคคลและชุมชนที่ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ซึ่งเป็นรางวัลที่ยกย่อง เชิดชู แก่ต้นแบบการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาตินั้น กระจายตัวกันอยู่ตลอดลำน้ำชี ทั้งสองฝั่ง ของจังหวัดสุรินทร์ และบุรีรัมย์ จนถึงปัจจุบัน ทุกคน ทุกชุมชนยังคงมุ่งมั่นทำงานกันอย่างเข้มแข็ง แต่ยังขาดโอกาสและพื้นที่ร่วมคิดร่วมทำงานในระดับที่ใหญ่และกว้างขึ้น จึงทำให้สถาบันลูกโลกสีเขียวเข้ามาจุดประกาย ผลักดัน ขับเคลื่อน สร้างพื้นที่เรียนรู้สถานการณ์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติในระบบนิเวศที่มีความหลากหลาย (ป่าริมน้ำ ป่าบุ่งป่าทาม และที่ราบลุ่ม) รวมถึงการใช้ประโยชน์ในแง่อาหาร น้ำเพื่อการเกษตร-การบริโภค และความหลากหลายทางชีวภาพ ภายใต้ชื่องาน “เวทีเสวนาเครือข่ายลำน้ำชี” อันประกอบด้วยเครือข่าย ดังนี้
ชุมชนที่ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทสิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนบ้านอาลอ-โดนแบน อ.เมือง จ.สุรินทร์ (ปี 2552) ชุมชนตำบลเชื้อเพลิง (ชุมชนป่าตาเกาว์) อ.เมือง จ.สุรินทร์ (ปี 2561-62) กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมป่าชุมชนริมฝั่งลำน้ำชี อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ (ปี 2562-63) รางวัลฯ ประเภทชุมชน 1 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนบ้านพลวง อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ (ปี 2561) รางวัลฯ ประเภทบุคคล ได้แก่ นางประมวล มาลัย อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ (ปี 2547) และนายวิเชียร สัตตธารา อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ (ปี 2556) โดยพระครูปราสาทพรหมคุณ (หลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญ) (ปี 2544) ได้รับรางวัลเกียรติยศ สุดท้ายรางวัลฯ ประเภทกลุ่มเยาวชน คือ กลุ่มเยาวชนชาวสวนพฤกษศาสตร์ โรงเรียนลำดวนพิทยาคม จ.บุรีรัมย์ (ปี 2561)
จุดเด่นที่มีลักษณะร่วมกันที่ทำให้ทุกผลงานยังมีความเข้มแข็ง และสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีในการจัดการทรัพยากรธรรมชาตินั้น ล้วนมีประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อรักษาป่า ผู้นำกับชาวบ้านร่วมใจกันผลักดันกลุ่มทุน ผู้มีอิทธิพล หรือคนที่เข้ามาถางป่า ตัดต้นไม้ เพื่อขายและแปลงเป็นที่ทำกิน ด้วยความตระหนักว่าหากปล่อยให้เกิดการทำลายป่าต่อไป จะไม่เหลือป่าที่เป็นแหล่งอาหาร น้ำ อากาศ เพียงพอแก่การดำรงชีวิต นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งคณะกรรมการดูแลป่า การกำหนดกฎระเบียบ กติกาการใช้ประโยชน์จากป่า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ขยายเครือข่าย และสร้างความร่วมมือการจัดการป่า รวมถึงการพัฒนาสร้างพื้นที่การเรียนรู้และการนันทนาการ หรือหลักสูตรท้องถิ่นสิ่งแวดล้อมศึกษา เป็นต้น
ในงานเสวนาฯ จะได้พบกับ
ดร.รอยล จิตรดอน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ และกรรมการสถาบันลูกโลกสีเขียว กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ชุมชนกับการจัดการทรัพยากรน้ำ”
ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ ผู้ก่อตั้งศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (Recoftc) และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สถาบันลูกโลกสีเขียว กล่าวสรุป “ความสำคัญของนิเวศ
ลำน้ำชีกับป่า”
คุณวิสูตร อยู่คง และคุณนิรุตณ์ บัวพา ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการทรัพยากรและป่าไม้ ร่วมเวทีเสวนาในช่วง “ลำน้ำชี : สายธารพหุวัฒนธรรม”
ผู้แทนผลงานรางวัลฯ ต้นแบบ 8 ผลงานในสองฝั่งลำน้ำชี
วัตถุประสงค์ของการจัดงาน
เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันและพัฒนาเครือข่ายลูกโลกสีเขียวลำน้ำชี
เพื่อให้บุคคล ชุมชน กลุ่มเยาวชนในบริบทใกล้เคียง ได้เรียนรู้ และนำแนวคิดไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ของตนเอง