เรื่องน่ารู้ประกันสังคม ทำความรู้จัก สิทธิกองทุนเงินทดแทน ของผู้ประกันตน ประกันสังคม มีสิทธิฟื้นฟูร่างกายกรณีบาดเจ็บ หรือสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ
กองทุนเงินทดแทน เป็นสิทธิประโยชน์ที่นายจ้างเป็นผู้นำส่งเงินสมทบ ซึ่งมีความสำคัญสำหรับคุ้มครองผู้ประกันตน ที่ได้รับบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยจากการทำงาน โดยผู้ประกันตนที่ได้รับบาดเจ็บจนสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ จะได้รับสิทธิเข้ารับการบำบัด ฟื้นฟูได้ที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน ที่นอกจากให้การบำบัด ฟื้นฟูทางด้านร่างกาย และจิตใจแล้ว ยังได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพ เพื่อให้ลูกจ้างที่ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน หรือผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพ (แพทย์วินิจฉัยแล้ว) สามารถปรับตัวในการทำงาน การประกอบอาชีพหรือเพิ่มทักษะในงานอาชีพตามความถนัด และเหมาะสมกับสภาพร่างกาย ซึ่งบางรายอาจกลับเข้าไปทำงานกับนายจ้างเดิมในตำแหน่งเดิมได้ หรือบางรายจำเป็นต้องเปลี่ยนตำแหน่ง เพื่อความพร้อมของร่างกาย ตลอดจนบางรายที่อาจต้องหานายจ้างใหม่ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ศูนย์ฟื้นฟู ฯ จะเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงเพื่อให้ผู้ประกันตนได้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง โดยสามารถเลี้ยงตนเองได้ และไม่เป็นภาระของครอบครัว

1. การฟื้นฟูทางด้านอาชีพของศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภพคนงาน ให้บริการที่ครอบคลุมตั้งแต่เริ่มต้น ไปจนจบกระบวนการเข้าสู่กระบวนการจ้างงาน 6 ขั้นตอนประกอบด้วย 1.การประเมินสมรรถภาพด้านอาชีพ เพื่อพิจารณาถึงความถนัด ความสนใจ ทักษะ ข้อจำกัดความต้องการด้านอาชีพและแผนการประกอบอาชีพ และรวบรวมนำผลที่ได้รับไปประกอบการวางแผน การฟื้นฟูสมรรถภาพให้แก่ผู้เข้ารับการพื้นฟูสมรรถภาพเป็นรายบุคคล
2. การวางแผนและการฟื้นฟูสมรรถภาพ จะมีการวางแผนเป็นรายบุคคล โดยมุ่งเน้นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้เข้ารับการพื้นฟูสมรรถภาพ และคำนึงถึงความเหมาะสมกับสภาพร่างกาย ความสามารถ และเป้าหมายในการประกอบอาชีพเป็นสำคัญ
3. การฝึกเตรียมเข้าทำงาน เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพที่รับการฝึก ให้มีความพร้อมที่จะกลับไปสู่งานเดิมหรือประกอบอาชีพใหม่ ซึ่งจะพิจารณาจากลักษณะงานเดิมสภาพร่างกาย ความสามารถ และความถนัดของอวัยวะที่เหลืออยู่และความต้องการของผู้เข้ารับการพื้นฟู ฯ นายจ้าง ให้สามารถทำงานได้ภายในระยะเวลาอันสั้นที่สุด
4. การฝึกอาชีพ เป็นการปรับตัวหรือเพิ่มทักษะความชำนาญในสาขางานอาชีพนั้น ๆ ให้เหมาะสมกับสภาพความบกพร่องทางร่างกายและความถนัดทำให้เกิดความมั่นใจที่จะกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานหรือประกอบอาชีพอิสระ 5. การส่งเสริมการฝึกอาชีพ เช่น ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน กิจกรรมอาชีพเสริมระยะสั้นและการจัดทำอุปกรณ์ช่วยในการฝึกอาชีพและประกอบอาชีพ 6. การติดตามผล เป็นการสำรวจการปรับตัว การใช้ชีวิตความเป็นอยู่ การใช้อวัยวะเทียม รวมถึงการประกอบอาชีพของผู้เข้ารับการพื้นฟูสมรรถภาพ ว่าประสบความสำเร็จหรือมีปัญหาอุปสรรคใดบ้างในการดำรงชีวิตประจำวัน ในการทำงานหรือการประกอบอาชีพ

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าภายใต้สิทธิประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน จะเป็นที่พึ่งที่ดีให้แก่ผู้ประกันตน เพื่อให้สามารถกลับเข้าสู่สังคม และใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุข พึ่งพาตนเองได้อย่างมีศักยภาพต่อไป
และทั้งหมดนี้คือสิทธิประโยชน์ ที่ลูกจ้างจะได้รับเมื่อประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน หากมีข้อสงสัยสามารถตรวจสอบ หรือติดตามข่าวสารสำนักงานประกันสังคมผ่านทางช่องทางต่าง ๆ ได้ที่
Website: www.sso.go.th
Facebook: สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
Instagram: sso_1506
Twitter: @sso_1506
YouTube: สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
Hotline: 1506 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
LINE: @SSOTHAI
TikTok: @SSONEWS1506