Net Zero เป้าหมายโลก ที่เรา… ไม่ทำไม่ได้ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หลังจากปัจจุบันมีหลักฐานและปรากฏการณ์มากมายที่บ่งชี้ว่า ภาวะโลกร้อนกำลังเกิดขึ้นจริงๆ
Net Zero เป้าหมายโลก ที่เรา… ไม่ทำไม่ได้
ปัจจุบันมีหลักฐานและปรากฏการณ์มากมายที่บ่งชี้ว่า ภาวะโลกร้อนกำลังเกิดขึ้นจริงๆ จากกิจกรรมของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นไปในชั้นบรรยากาศ ก๊าซเรือนกระจกประกอบด้วยก๊าซหลายชนิด ที่สำคัญคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ก๊าซไนตรัสออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ ก๊าซโอโซน สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน และฮาโลคาร์บอน ก๊าซเหล่านี้สามารถกักเก็บรังสีความร้อนจากผิวโลกแล้วคายรังสีความร้อนนั้นกลับลงมาทำให้อุณหภูมิบนผิวโลกร้อนขึ้นกว่าเดิม เปรียบเสมือนกระจกสะท้อนรังสีความร้อนไม่ให้ออกไปจากโลก เรียกว่า ปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect) และเรียกรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งมีหลายชนิดว่า การปล่อยคาร์บอน (Carbon Emission) ซึ่งก๊าซแต่ละชนิดจะมีศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนหรือค่า (Global Warming Potential: GWP) เมื่อเทียบกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์( CO2) ที่แตกต่างกันและจะมีอายุในการคงอยู่ในชั้นบรรยากาศที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการแผ่รังสีความร้อนและอายุของก๊าซนั้นๆ ในบรรยากาศ

ก๊าซเรือนกระจกที่มีมากที่สุดในชั้นบรรยากาศคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล คือ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน รองลงมาคือ ก๊าซมีเทนและก๊าซไนตรัสออกไซด์ที่เกิดจากการย่อยสลายของซากสิ่งมีชีวิตในภาคเกษตรกรรม สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFCs) ในเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น สเปรย์ น้ำยาดับเพลิง ฯลฯ เมื่อสารซีเอฟซีหลุดลอยขึ้นไปก็จะทำลายก๊าซโอโซน เกิดเป็นรูโหว่ให้รังสีอัลตร้าไวโอเลตลงมาถึงผิวโลก
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยต้องเผชิญวิกฤติน้ำแล้ง พายุ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และภัยพิบัติทางธรรมชาติที่บ่อยครั้งขึ้นและทวีความรุนแรงมากขึ้น เพื่อรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ระบุว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ปัจจุบัน โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นประมาณ 1.1 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฎิวัติอุตสาหกรรมทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นเพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ปัจจุบันมีมากกว่า 137 ประเทศที่ให้คำมั่นจะบรรลุ Net Zero ที่ตั้งเป้าบรรลุภายในปี 2050
Net Zero Emission หรือ Net Zero หมายถึง การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด “สมดุล” กับการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศโลก และ Net Zero นี้ไม่สามารถชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ ซึ่งสามารถดำเนินการได้โดย
- ลด (Reduction) คือ ต้องลดให้มากที่สุดไปจนถึงระดับไม่ปล่อยออกมาเลย เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียนแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
- ดูดกลับและกักเก็บ (Capture and Storage) คือ กระบวนการดูดกลับและกักเก็บก๊าซเรือนกระจก จากชั้นบรรยากาศ เช่น การใช้เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์และกักเก็บไว้ใต้พื้นดินหรือมหาสมุทรเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไป
- เพิ่ม แหล่งสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามธรรมชาติ เช่น การปลูกป่า ปลูกต้นไม้
Carbon Neutrality หรือความเป็นกลางทางคาร์บอน หมายถึง การที่ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืนมา ทั้งนี้ Net Zero อาจคล้ายกับ Carbon Neutrality แต่เป็นมิติที่กว้างกว่า เพราะการพิจารณาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้นอีกทั้ง Carbon Neutrality ยังอนุญาตให้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิตได้ และมีเป้าหมายที่สั้นกว่าคือ ปี 2030

ในการประชุมสมัชชาประเทศว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือ Carbon Neutrality ในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ เป็นศูนย์ หรือ Net Zero ให้ได้ภายในปี 2065
ส่วนในระดับองค์กร ที่ผ่านมาภาคธุรกิจขนาดใหญ่หลายรายได้เริ่มปรับตัวเพื่อบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกไปสู่ธุรกิจที่ยั่งยืนเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับ กลุ่ม ปตท. ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติที่ตระหนักดีถึงความสำคัญในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้เร็วกว่า คือ จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2040 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050