สิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตรที่ไม่ควรมองข้ามผู้ประกันตน ม.33 ม.39 เบิกเงินค่าคลอดได้ทั้งชาย-หญิง
สำนักงานประกันสังคม ได้ขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของแรงงานทุกคนในระบบประกันสังคม โดยครอบคลุมตั้งการเกิด แก่เจ็บ ตายของผู้ประกันตนทำให้เกิดสิทธิประโยชน์ 7 กรณี โดยหนึ่งในนั้นคือ กรณีคลอดบุตรที่ทางสำนักงานประกันสังคมให้ความสำคัญกับผู้ประกันตนที่จะได้ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัวได้
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า สิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตรนั้น ไม่เพียงแต่ผู้ประกันตนหญิงที่จะได้รับเงินค่าคลอดบุตรเท่านั้น แต่ผู้ประกันตนชายก็ยังสามารถรับเงินค่าคลอดบุตรได้เช่นกัน โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเกิดสิทธิ คือ ผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนเดือนที่คลอดบุตร โดยผู้ประกันตนหญิงที่คลอดบุตร ณ สถานพยาบาลใดก็ได้ จะได้รับเงินค่าคลอดบุตรเหมาจ่ายต่อครั้งจำนวน 15,000 บาท โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง และจะได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นเวลา 90 วัน ซึ่งเงินในส่วนนี้ผู้ประกันตนสามารถเบิกได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ส่วนผู้ประกันตนชาย เบิกเงินค่าคลอดบุตรเหมาจ่ายได้จำนวน 15,000 บาท โดยจะต้องมีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสหรือหญิงซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภรรยาแต่มิได้จดทะเบียนสมรส ทั้งนี้หากสามีและภรรยาเป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ให้เลือกใช้สิทธิเบิกค่าคลอดบุตรของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยไม่จำกัดจำนวนบุตรต่อครั้ง

นอกจากนี้ผู้ประกันตนหญิงที่ตั้งครรภ์จะได้รับค่าตรวจและค่าฝากครรภ์ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด เท่าที่จ่ายจริง จำนวน 5 ครั้ง ไม่เกิน 1,500 บาท ดังนี้ อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ เบิกจ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 500 บาท อายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์ เบิกจ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 300 บาท อายุครรภ์ 20-28 สัปดาห์ เบิกจ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 300 บาท อายุครรภ์ 28-32 สัปดาห์ เบิกจ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 200 บาทและอายุครรภ์ 32-40 สัปดาห์ เบิกจ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 200 บาท

เลขาธิการ สปส. กล่าวอีกว่า ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมได้เพิ่มช่องทางการรับเงินทดแทนแก่ผู้ประกันตน โดยไม่ต้องยื่นสำเนาหน้าบัญชีเงินฝากธนาคารกับประกันสังคมแล้วในการขอเบิกรับเงินค่าคลอดบุตร โดยผู้ประกันตนสามารถลงทะเบียนพร้อมเพย์ด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชนกับธนาคารที่ผู้ประกันตนเปิดบัญชีไว้ได้ทุกธนาคาร โดยผู้ประกันตนสามารถยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกองทุนประกันสังคม (สปส.2-01) พร้อมเอกสารสำคัญ คือ สำเนาบัตรประชาชน สำเนาสูติบัตรบุตร สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ-ชื่อสกุล (ถ้ามี) สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกของผู้ยื่นคำขอ (กรณีรับเงินโอนผ่านบัญชีธนาคาร) สำหรับผู้ประกันตนชายแนบสำเนาทะเบียนสมรส กรณีไม่ได้จดทะเบียนสมรสแนบหนังสือรับรองของผู้ประกันตนกรณีไม่มีทะเบียนสมรส ทั้งนี้ผู้ประกันตนยื่นคำขอได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา หากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1506 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ทาง Line ID: @ssothai และทางเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th
Website: www.sso.go.th
Facebook: สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
Instagram: sso_1506
Twitter: @sso_1506
YouTube: สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
Hotline: 1506 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
LINE: @SSOTHAI
TikTok: @SSONEWS1506