วราวุธ รมว.กระทรวงทรัพย์ฯ ประกาศความสำเร็จ บนเวที TCAC : Carbon Neutrality และการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก เป็นศูนย์ เพื่อคนรุ่นหลัง
ในช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Cop26) ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสก็อตแลนด์ โดยมีเป้าหมาย คือ การควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยไม่ให้สูงเกิน 2 องศาเซลเซียส และมุ่งเป้าหมายไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
และประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายสำคัญ คือ จะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065

วันที่ 6 ส.ค. 2565 เวลา 10.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขึ้นแถลงนโยบายสู่ความสำเร็จด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย หรือ TCAC ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน
โดยนายวราวุธ กล่าวว่า จากปัญหา Climate Change ที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ การจะทำให้โลกปลอดภัย และทำให้ประเทศไทยลดปัญหาอุทกภัยได้อย่างเป็นรูปธรรม ต้องแก้ไขด้วยการกระบวนการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2050 และ ค.ศ. 2065 ตามลำดับ

นายวราวุธ กล่าวว่า ปัจจุบันการเกษตรสมัยใหม่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ผสมผสานกับภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือที่ตนเรียกว่า “Agri-Tech with Roots” ที่นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ ร่วมกับองค์ความรู้ปราชญ์ชาวบ้าน มีการใช้ระบบเกษตรอินทรีย์ ทำให้ผลผลิตมีราคาสูง และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง
นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จากโครงการ Thai Rice NAMA โครงการความร่วมมือระหว่างเยอรมนี และไทย ที่ได้เข้ามาช่วยพี่น้องชาวนาแก้ปัญหาโลกร้อน และช่วยส่งเสริมให้ผลิตข้าวได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการใช้เทคโนโลยี และเทคนิคการปลูกข้าวแบบใช้น้ำน้อย ทำให้สามารถ เพิ่มผลผลิตข้าว เพิ่มคุณภาพข้าว เพิ่มรายได้ ลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้น้ำ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความตั้งใจที่จะผลักดันนโยบายต่าง ๆ ให้บรรลุเป้าหมาย ตามกรอบอนุสัญญาฯ และความตกลงปารีส ที่ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้ในการประชุม COP26 อาทิ การพยายามผลักดันร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. เพื่อเป็นกฎหมายการส่งเสริมและสนับสนุน ให้เกิดเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่สอดคล้องไปกับ BCG Model
และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกำลังหลักในด้านการเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก โดยสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปลูกป่า ผ่านโครงการฟื้นฟูพื้นที่อนุรักษ์ และแบ่งปันคาร์บอนเครดิต นโยบายในการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่อนุรักษ์

นายวราวุธ ได้กล่าวปิดท้ายว่า การดำเนินงานในระดับพื้นที่ เป็นปัจจัยสำคัญในการบรรลุเป้าหมายที่ประกาศไว้ และช่วยลดความสูญเสียและความเสียหายจากภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เกิดขึ้นกับพี่น้องคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และลูกหลานเราในอนาคต “Togerther Possible”
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่น ๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY