วัคซีนโควิด — จากกรณีบริษัทไฟเซอร์ อิงค์ของประเทศสหรัฐ และไบโอเอ็นเท็คเยอรมนี ประสบความสำเร็จในการผลิตวัคซีนโควิด19 ที่มีประสิทธิผลในการป้องกันโรคมากกว่า 90% โดยวัคซีนนี้มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง หลังผ่านการทดลองจากอาสาสมัคร 43,000 คน
ล่าสุด นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยว่าในส่วนของประเทศไทยมีการวิจัยวัคซีนชนิดmRNAรูปแบบเดียวกับของบริษัทไฟเซอร์ฯเช่นกัน ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเตรียมที่จะมีการวิจัยในมนุษย์ราวเดือนม.ค.-ก.พ. 2564 ซึ่งการที่บริษัทไฟเซอร์วิจัยมาถึงขั้นนี้จะเป็นการค้นพบว่าภูมิคุ้มกันตัวไหนที่เป็นตัวกำหนดป้องกันโรค ทำให้การวิจัยในไทยสามารถตรวจเลือดเทียบเคียงภูมิคุ้มกัน ที่เป็นตัวกำหนดได้ชัดเจนขึ้น เป็นการทำให้งานวิจัยในไทยเดินหน้าได้อย่างมั่นใจมากขึ้น
สำเร็จแล้ว! ไฟเซอร์ พัฒนา วัคซีนป้องกันโควิด19 ใช้ได้ผลถึง 90 %
ข่าวดี! ไทยมีโอกาสได้รับ วัคซีนต้านโควิด19 อันดับต้นของโลก
นอกจากนี้ ในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพ.ย.นี้ ไทยจะมีการหารือกับบริษัทไฟเซอร์เกี่ยวกับข้อมูลเชิงลึกของวัคซีนนี้ ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถตัดสินใจเชิงนโยบายได้ชัดเจนมากขึ้น
ด้าน พญ.สุชาดา เจียมศิริ ผู้อำนวยการกองโรคป้องกันด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค กล่าวว่ากำลัง อยู่ระหว่างการจัดเรียงความสำคัญกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับวัคซีนป้องกันโควิด19 ในกรณีมีวัคซีนแล้ว ซึ่งแน่นอนว่า กลุ่มแรกที่จะได้รับ คือ บุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยง
ข่าวดี! หมอยง เผย วัคซีนโควิด19 ใกล้ถึงจุดหมาย
ส่วนกลุ่มอื่นๆ อยู่ระหว่างการพิจารณา ต้องมีข้อมูลทั้งอัตราการป่วย อัตราการเสียชีวิต โดยจะนำข้อมูลจากต่างประเทศมาประกอบ คาดว่าทั้งหมดจะชัดเจนภายในสิ้นเดือน ธ.ค.นี้ จากนั้นจึงจะเสนอต่อคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติพิจารณาต่อไป และเนื่องจากประเทศไทยจัดหาวัคซีนให้ครอบคลุม 50 %ของประชากร หรือ 30 ล้านคน ซึ่งกลุ่มที่จะมีการจัดลำดับการให้วัคซีนจะไม่ถึงจำนวน 30 ล้านคน เพราะฉะนั้น มีความเป็นไปได้ที่ประชาชนที่ไม่ใช่กลุ่มแรกที่อยู่ในลำดับการให้วัคซีนอาจจะขอติดต่อรับวัคซีนได้ แต่ขึ้นอยู่กับปริมาณวัคซีนที่จะเข้าประเทศด้วย