ร.อ.ธรรมนัส ส่งที่ปรึกษา ฟ้องหมื่น “หมอวรงค์-เจษฎ์-บุญยอด” หลังถูกโจมตีออกสื่อ ระหว่างส่งมอบงาน วิจารณ์แทรกแซงการทำงาน น้ำท่วม
วันนี้ 10 ก.ย. 2567 นายธนดล สุวัณณะฤทธิ์ คณะที่ปรึกษารักษาการ รมว.เกษตรและสหกรณ์ นำเอกสารหลักฐานเข้าพบพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง เพื่อแจ้งความดำเนินคดี “ฟ้องร้อง” นายเจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย , นายบุญยอด สุขถิ่นไทย พิธีกร-อดีตผู้สมัครส.ส. บัญชีรายชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติ และนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี ในข้อหาหมิ่นประมาท ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จากกรณีวิจารณ์ออกสื่อ ว่า
ร.อ.ธรรมนัสทำตัวไม่เหมาะสม เสี่ยงแทรกแซงข้าราชการและฝ่ายบริหาร ภายหลังลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วมที่ จ.ชัยนาท และ จ.พระนครศรีอยุธยา ร่วมกับ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2567 เข้าข่ายผิดมาตรา 185 ที่ห้าม สส. และ สว. แทรกแซงการทำงานของฝ่ายบริหาร

นายธนดล กล่าวว่า ในเวลานี้ที่เกิดภัยพิบัติทางน้ำควรร่วมมือร่วมใจกันช่วยเหลือประชาชน แต่การที่มาโจมตีกัน ว่าการทำ ร.อ.ธรรมนัส “ไม่เหมาะสม” และสอบผิดรัฐธรรมนูญ ตรงจุดนี้เป็นการทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ว่า ร.อ.ธรรมนัสไม่เข้าใจกฎหมาย ด้านธนดลยังบอกอีกว่าการวิพากษ์วิจารณ์นั้นสามารถทำได้ แต่ถ้าหากติชมด้วยความเป็นธรรมด้วยความซื่อสัตย์สุจริตก็ไม่ได้ผิดกฎหมายแต่การที่มากล่าวหาว่า ร.อ.ธรรมนัสปฏิบัติเหมาะสมหรือไม่ ตรงนี้ถือว่าเป็นการหมิ่นประมาท
และบอกว่าการที่ ร.อ.ธรรมนัส ลงพื้นที่ เป็นการส่งมอบงานระหว่างที่บริหารกระทรวงเกษตรมา เนื่องจากว่าน้ำกำลังจะท่วมบ้านเรือนพี่น้องประชาชน ในขณะนั้นร.อ.ธรรมนัส ยังคงดำรงตำแหน่งก็ได้ไปดูน้ำตั้งแต่แม่น้ำยม จังหวัดสุโขทัยจนกระทั่งน้ำไหลมาที่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งที่ผ่านมาทุกคนทำเพียงแค่โจมตีกันไปมาแต่ไม่มีใครสนใจความเป็นอยู่ของประชาชนที่กำลังจะได้รับความเดือดร้อน

ส่วนจะมีการยอมความกันหรือไม่
นายธนดล ระบุว่าก็ให้เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมายซึ่งตามกฏหมายในเรื่องของการดำเนินคดีด้านหมิ่นประมาทตรงนี้เป็นความผิดส่วนบุคคลและเป็นความผิดที่สามารถยอมความได้ ส่วนจะแจ้งคดีอะไรเพิ่มเติมหรือไม่นั้นก็จะดูรายละเอียดรวมถึงหลักฐาน ว่า มีการตัดต่อให้เสื่อมเสียชื่อเสียงหรือไม่ ซึ่งจะพบว่า มีการตัดต่อก็จะเข้าความผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์