รายงานพิเศษ : เปิด “ดีล” ฟอร์มรัฐบาล ไพ่ในมือ “พลังประชารัฐ” ปิดเกม “เพื่อไทย”
พลันที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ประกาศรับรอง ส.ส.ระบบเขต และบัญชีรายชื่อเสร็จสิ้น ได้เปิดทางเข้าสู่โหมดการเมืองเข้มข้นทันที จากตัวเลข ส.ส.แต่ละพรรคนำไป “ดีล” เพื่อรวมเสียงตั้งรัฐบาล ในมือขั้วอำนาจ “พลังประชารัฐ-เพื่อไทย” โดยมีเสียงจาก “ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์-ชาติไทยพัฒนา-ชาติพัฒนา-พลังท้องถิ่นไท-รักษ์ผืนป่าประเทศไทย” และพรรคขนาดเล็ก เป็นเสียง “ตัวแปร” ก้อนใหญ่ถึง 121-132 ที่นั่ง ที่มีผลต่อการตัดสินใจครั้งสำคัญ

ล่าสุดสถานการณ์เจรจา เริ่มขยับข้อเสนอ “พิเศษ” บวกกับ “เก้าอี้” รัฐมนตรีในโค้วต้าแต่ละกระทรวงหลัก เพื่อเพิ่ม “แรงจูงใจ” เข้ามารวมเสียงประกบจัดตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะขั้ว “พลังประชารัฐ” เริ่มที่ “ยกแรก” ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะ “ประมุข” ฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งตามกฎหมายต้องเลือกให้เสร็จภายใน 15 วัน ภายหลัง กกต.ประกาศรับรอง โดยกระแสขณะนี้คาดว่าจะเป็นวันที่ 21 พ.ค. โดยมีชื่อ “สันติ พร้อมพัฒน์” และ “สุชาติ ตันเจริญ” จากพรรคพลังประชารัฐ เป็น 2 ตัวเต็งมารับตำแหน่งประธานสภาฯ ส่วนโควต้า “รองประธานสภา” จะเป็นของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ยังคาดว่าเป็นฝั่งภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์ หากทั้ง 2 พรรคตัดสินใจมาร่วมงานกับ “พลังประชารัฐ” ได้สำเร็จ
ขณะที่กระทรวง “เกรดเอ” ตั้งแต่กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงต่างประเทศ กำลังถูกจัดสรรตาม “โค้วต้า” จำนวน ส.ส.แต่ละพรรคการเมือง รวมถึงนโยบายหาเสียงที่ได้ประกาศไว้ เริ่มที่ “ภูมิใจไทย” ยังพุ่งเป้าไปที่กระทรวงมหาดไทย จากที่เคยเข้ามากุมอำนาจในช่วงที่สลับขั้วทิ้ง “พลังประชาชน” มาร่วม “ประชาธิปัตย์” ดัน “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เป็นนายกฯ เพื่อแลกกับการเข้าคุมกระทรวงมหาดไทย คมนาคม พาณิชย์ เกษตรและสหกรณ์ เมื่อปี 2551

อย่าลืมว่าหลังการเลือกตั้งทั่วไปแล้วเสร็จ “ไทม์ไลน์” ต่อไปจะมี “เลือกตั้งท้องถิ่น” ในหลายจังหวัด หากพรรคใดเข้ามาบริหารกระทรวงมหาดไทยได้ “เบ็ดเสร็จ” หมายความว่า จะกุมความได้เปรียบต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นตามไปด้วย ซึ่ง “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” น้องชาย “เนวิน” เคยเป็นทีมงานคนสำคัญให้ “ชวรัตน์ ชาญวีรกูล” สมัยเป็นเจ้ากระทรวงมหาดไทยมาแล้ว แต่ในดีลครั้งนี้เก้าอี้ “มท.1” คาดว่ากำลังถูกจับจองไว้โดย “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่จะกลับมารับตำแหน่งเดิมอีกครั้ง
ทำให้ “ภูมิใจไทย” พยายามเปิด “ดีลใหม่” ไปคุมกระทรวงคมนาคม หรือเปลี่ยนมานั่งเก้าอี้ “มท.2” เพื่อร่วมบริหาร “มหาดไทย” กับ “พลังประชารัฐ” ไปพร้อมกับการเริ่มนโยบายด้าน “กัญชา” ซึ่งต้องวัดใจจะ “ปิดดีล” ที่กระทรวงสาธารณสุขได้หรือไม่

ขณะที่ซีก “ประชาธิปัตย์” ยังจับจองไปที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ยังต้องแบ่งการจัดสรรโควต้ากับ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ของพลังประชารัฐ หรือ “ชาติไทยพัฒนา” ส่วนกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา จะเป็นพื้นที่ของ “ชาติไทยพัฒนา” หรือกระทรวงอุตสาหกรรม และพลังงาน จะเป็นโควต้า “ชาติพัฒนา” ของ “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ”
ที่สำคัญ “ขีดเส้นใต้” ไปที่กระแสข่าวเก้าอี้รองนายกฯ 1 ตำแหน่งถูกเตรียมไว้ให้ “พรรคธงฟ้า” เพื่อไปรวมกับเก้าอี้รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ โดย “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” จะกลับมารับตำแหน่งอีกครั้ง เช่นเดียวกับ “รมว.กลาโหม” ถูกล็อคไว้ให้ “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เจ้ากระทรวงคนเดิม

ยังไม่นับ “โควต้า” รัฐมนตรีในกลุ่ม “พลังประชารัฐ” ทั้งที่เป็นกลุ่ม ส.ส. และไม่ได้เป็น ส.ส. ที่ถูกวางไว้หลายกระทรวง อาทิ คลัง พาณิชย์ ดิจิทัล สำนักนายกฯ วิทยาศาสตร์ ตั้งแต่ อุตตม สาวนายน สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ กอบศักดิ์ ภูตระกูล ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์อิทธิพล คุณปลื้ม อนุชา นาคาศัย หรือสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ขณะที่ “ส.ส.สอบตก” จะยังไม่ตกงาน เพราะจะถูกวางไว้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีตามกระทรวงต่างๆ เพื่อ “เทรนงาน” เก็บเกี่ยวประสบการณ์รอเลือกตั้งใหม่ในครั้งต่อไป

จากนั้นเข้าสู่โหมดสำคัญในการเลือกนายกฯ ท่ามกลางกระแสว่าถูก “ปักหมุด” ไว้ช่วงวันที่ 24 พ.ค. หากเสียงของ ส.ส.ที่ถูกดีลไว้ไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น จะร่วมยกมือเกิน 254 เสียงขึ้นไป สนับสนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมานั่งเก้าอี้นายกฯ อีกครั้ง ส่งให้ฝั่ง “เพื่อไทย-อนาคตใหม่-เสรีรวมไทย-ประชาชาติ-เศรษฐกิจใหม่-เพื่อชาติ-พลังปวงชนไทย” จำนวน 245 ที่นั่งไปรวมเสียงเป็นพรรคร่วม “ฝ่ายค้าน” แทน

ที่สำคัญการรวมเสียงครั้งนี้ “พลังประชารัฐ” ต้องการคุมเกมเสียงข้างมากในสภาให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกล้มในช่วง “อภิปรายไม่ไว้วางใจ” หรือการยกมือผ่านกฎหมายสำคัญๆ เพราะประวัติศาสตร์ “งูเห่า” ในสภา เคยพ่นพิษคว่ำเสียงรัฐบาลมาแล้วหลายครั้ง ทำให้ “ดีล” ครั้งนี้มีความสำคัญต่อความเป็นไป ในลมหายใจ พล.อ.ประยุทธ์ ในเรือลำที่ชื่อว่า “พลังประชารัฐ” ที่จะ “เสียของ” ไม่ได้ทั้งสิ้น