เมื่อวันที่ 17 ม.ค.62 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จัดประชุมหารือแนวทางการจัดการศึกษาปริมาณขยะลอยน้ำบริเวณปากแม่น้ำสายหลักโดยทุ่นกักขยะ (Boom) ซึ่งได้รับเกียรติจากนายจตุพร บุรุพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นประธาน โดยมีนายจเรศักดิ์ นันตะวงษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วยนายอุกกฤต สตภูมินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน ตลอดจนคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการขยะทะเล หน่วยงานภาคเอกชน และกลุ่มเครือข่ายภาคีจากพื้นที่แม่น้ำสายหลัก ได้แก่ จ.ระยอง จ.ฉะเชิงเทรา จ.สมุทรสาคร จ.เพชรบุรี จ.สุราษฎร์ธานี จ.สงขลา จ.ปัตตานี จ.สตูล จ.พังงา และจ.ภูเก็ต เข้าร่วมประชุม จำนวนกว่า 120 คน ณ ดิไอเดิ้ล เซอร์วิส เรสซิเดนซ์ จ.ปทุมธานี
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า ปัจจุบันขยะได้กลายเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญของประเทศ จากข้อมูลขยะมูลฝอยของประเทศไทยในปี 2559 มีปริมาณ 27.06 ล้านตันต่อปี คิดเป็น 74,130 ตันต่อวัน และคิดเป็น 1.14 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ขยะมูลฝอยเหล่านี้จะมีบางส่วนที่ไม่ได้รับการจัดการและกลายเป็นแหล่งกำเนิดของขยะทะเล โดยขยะทะเลจะมีแหล่งกำเนิดจากบนบกร้อยละ 80 และมีแหล่งกำเนิดจากในทะเลร้อยละ 20 ซึ่งขยะทะเลส่วนใหญ่จะมีความเชื่อมโยงกับขยะมูลฝอยที่มาจากแผ่นดิน ซึ่งจะทำให้เกิดขยะลงสู่ทะเลผ่านทางแม่น้ำลำคลอง ซึ่งเป็นเส้นทางที่นำขยะจากบนบกลงสู่ทะเลโดยออกสู่ทะเลบริเวณปากแม่น้ำ จากผลการศึกษาปริมาณขยะปากแม่น้ำของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน ในพื้นที่ศึกษา 5 ปากแม่น้ำบริเวณอ่าวไทยตอนบน ได้แก่ แม่น้ำบางตะบูน แม่กลอง ท่าจีน เจ้าพระยา และบางปะกง ในปี 2558-2560 พบขยะทะเลลอยน้ำ (ที่ผ่านปากแม่น้ำที่ความลึก 2 เมตร ในช่วงเวลา 24 ชม.) ในช่วงน้ำลงมีจำนวนรวมทั้งหมด 79,427 ชิ้น (น้ำหนักรวม 1,308 กก.) และช่วงน้ำขึ้นมีจำนวนรวมทั้งหมด 55,824 ชิ้น (น้ำหนักรวม 737 กก.) แสดงให้เห็นถึงบริเวณปากแม่น้ำเป็นทางออกของมวลขยะจำนวนหนึ่งผ่านทางแม่น้ำลำคลองลงสู่ทะเล ซึ่งจะส่งผลกระทบกับทรัพยากรและระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งได้
นายจตุพร กล่าวว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยมีภารกิจในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร และสืบเนื่องจากขยะทะเลที่สามารถส่งผลกระทบกับทรัพยากร โดยเฉพาะสัตว์ทะเลหายาก ซึ่งจากผลการศึกษาขยะทะเลที่มีผลต่อการตายของสัตว์ทะเลหายาก ซึ่งขยะเหล่านี้จะไปพันเกี่ยวตามตัวของสัตว์ทะเลและจากการกินเพราะเข้าใจผิดว่าเป็นอาหาร พบว่าในปีงบประมาณ 2560 มีสัตว์ทะเลที่ได้รับผลกระทบจากขยะทะเลถึงร้อยละ 16 นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ เช่น ปะการัง ป่าชายเลน ชายหาด มีผลทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยน และทำลายสัตว์ทะเลโดยทำให้เกิดการแพร่กระจายของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นโดยการติดมากับขยะที่ล่องลอยอยู่ในน้ำ ขยะอวนแหทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน นอกจากนี้ผลกระทบของขยะบริเวณชายหาดยังส่งผลในด้านของเศรษฐกิจการท่องเที่ยว รวมทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยส่งผลต่อสุขภาพของสัตว์ทะเลและมนุษย์ได้รับบาดเจ็บจากขยะบริเวณชายหาด หรืออาจได้รับสารพิษจากขยะเหล่านั้น รวมถึงประเด็นของไมโครพลาสติกด้วยเช่นกัน